กรอ.เผยครึ่งปีแรกยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ(รง.4)ยังโต 10.22% เงินลงทุนรวมกว่า 1.74 แสนล้านบาทลด 14.09% เหตุยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องเกาะติดครึ่งปีหลังเป็นสำคัญ โดยอุตสาหกรรมอาหารยังมีการขอตั้งและขยายกิจการสูงสุด
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรกปีนี้(ม.ค.-19 มิ.ย.63) มียอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) จำนวน 1,702 ราย ขยายตัว 10.22% เม็ดเงินลงทุนรวม 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09 % แต่การจ้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปปี 2561 โดยจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้นถึง 79.23 % อย่างไรก็ตามการขอจัดตั้งโรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วในครึ่งปีแรกจึงต้องติดตามผลกระทบในช่วงครึ่งปีหลังว่าจะมีผลต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่
“ ตลอดปี 2563 คาดว่าจะมียอดขอ รง.4 และขยายกิจการรวมกว่า 3,000 แห่ง ใกล้เคียงกับปี 2562 โดยคาดหวังว่ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้โดยไม่กลับมาระบาดรอบ 2 เพื่อทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นการลงทุนในไทยมากขึ้นเนื่องจากบางส่วนมีสัญญาณการย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยด้วย ก็คงต้องติดตามใกล้ชิดในช่วงไตรมาส 3-4 “นายประกอบกล่าว
ทั้งนี้หากพิจารณาตัวเลขการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2562 จำนวน 1,702 ราย แบ่งเป็นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ1,267 ราย ลดลง 3.36 % จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58 % และเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16 % การขยายกิจการ 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07 % ขณะที่การเลิกกิจการ อยู่ที่ 404 แห่ง กระทบคนงาน 1.6 หมื่นคน เงินลงทุนหายไป 25,000 ล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมอาหารมีการขอใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานและขยายกิจการสูงสุด 97 ราย เพิ่มขึ้น 44.78 % คิดเป็นเงินลงทุน 14,390.43 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50.19 % เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทำให้อุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มเติบโตสูง รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติก 36 ราย แต่หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนลดลง 41.94% เงินลงทุน 2,763.92 ล้านบาท ลดลง 64.93% กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 32 ราย เพิ่มขึ้น 6.67% เงินลงทุน 5,266.72 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 46.71% เป็นต้น
“ กรอ. มีแผนในการฟื้นฟู ส่งเสริม หรือสนับสนับสนุนสถานประกอบการอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งได้จัดทำโครงการ ตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ จำนวน 5 โครงการ วงเงิน 148 ล้านบาท อาทิ โครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โครงการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิค-19 ในกลุ่มของโรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคมี เครื่องปรับอากาศ “นายประกอบกล่าว