อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมร่อนหนังสือเตือนผู้ประกอบการโรงงานในเขต กทม. และประสานสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแจ้งเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบทั่วประเทศเร่งปรับตัวรับวิถีใหม่ หรือ New Normal เหตุโควิด-19 ทำพฤติกรรมประชาชนเปลี่ยนไป หากไม่อยากเสี่ยงปิดกิจการเน้น Factory 4.0
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรอ.เตรียมส่งหนังสือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 5,860 แห่ง พร้อมประสานสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อแจ้งให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศมีหนังสือแจ้งเตือนผู้ประกอบการในพื้นที่รับผิดชอบให้เร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะปกติใหม่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรม หรือ New Normal เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด-19 จะทำให้พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนไป โดยเน้นความสำคัญเรื่องของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านทางออนไลน์ และการใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้นเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม หากโรงงานอุตสาหกรรมไม่ปรับตัวรองรับจะเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการ และไม่สามารถแข่งขันได้
ปัจจุบัน กรอ.ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะนำผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมเข้าสู่นโยบาย Factory 4.0 ซึ่งจะสอดคล้องกับพฤติกรรม New Normal โดยมีการตั้งเป้าหมายที่จะให้บริการผู้ประกอบการ ทั้งในรูปแบบการขอใบอนุญาต รง.4, การจ่ายค่าธรรมเนียม, การยื่นคำขอและการออกใบสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตรายหรือกากอุตสาหกรรม, การขึ้นทะเบียนเป็นผู้ควบคุมระบบบำบัดมลพิษ รวมถึงการพัฒนาการบริการอื่นๆ แบบออนไลน์ครบวงจรได้ในปี 2565 ซึ่งนอกจากจะสร้างความโปร่งใสแล้ว ยังช่วยลดภาระ และอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมก็ต้องมีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับหน่วยงานรัฐ หรือติดต่อกับลูกค้า เป็นต้น
ส่วนโครงการในปีงบประมาณ 2564 กรอ.ได้มีโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคนิวนอร์มัล เช่น ระบบบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร, ระบบการรับรองตนเองของผู้ประกอบกิจการโรงงาน (Self-Declaration) และการขึ้นทะเบียน/กำกับดูแลผู้ตรวจสอบเอกชน (Third Party), ระบบข้อมูลเพื่อการจัดการความปลอดภัยด้านสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม, ระบบเฝ้าระวังและเตือนภัยมลพิษระยะไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงกับระบบต่างๆ ที่ได้ลงทุนในปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบเชื่อมโยงเอกสารราชการกับฐานข้อมูลประชาชนและบริการภาครัฐ, ระบบบูรณาการข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการวัตถุอันตราย, พัฒนาระบบทำเนียบสารเคมีและวัตถุอันตรายแห่งชาติ เป็นต้น
“กรอ.มีแผนที่จะพัฒนาโดยให้ความรู้แก่โรงงานอุตสาหกรรมบางส่วน โดยเฉพาะโรงงานขนาดเล็กที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับยุคการเปลี่ยนแปลงในภาวะปกติใหม่หรือนิวนอร์มัล ซึ่งที่ผ่านมา กรอ.ได้เร่งผลักดันการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาร่วมประยุกต์ใช้ในการกำกับดูแลโรงงาน รวมถึงการนำนวัตกรรมด้านความปลอดภัยมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการเพิ่มประสิทธิภาพในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยให้สอดรับตามแนวทางนโยบายแฟกตอรี 4.0 ของรัฐบาล และเพื่อให้ระบบการทำงานมีความทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทาง กรอ.ก็พร้อมจะเดินหน้าสานต่อการดำเนินงานต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายประกอบกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้สั่งการให้หน่วยงานภายใต้สังกัดของ กรอ.ปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประกอบการธุรกิจ และประชาชน ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือผ่านช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่อสร้างความสะดวกแก่ประชาชน และในสถานการณ์ปัจจุบันยังช่วยสร้างความปลอดภัย เพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบัน กรอ.ได้เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน ผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชน มากกว่า 10 ภารกิจ ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือเว็บไซต์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม www.diw.go.th