xs
xsm
sm
md
lg

เปิดภาพ "โรงงานรีไซเคิล" ที่บ้านค่าย จ.ระยอง เก็บวัตถุอันตรายเพียบ แต่ไม่แสดงใบอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดภาพโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งใน อ.บ้านค่าย ระยอง ไม่แสดงใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย แต่พบเป็นแหล่งจัดเก็บวัตถุอันตรายปริมาณมาก

รายงานพิเศษ

จากกรณีชาวบ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ร้องเรียนได้รับผลกระทบแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรเน่าเสียอย่างหนัก แม้แต่สวนยางพารา 30 ไร่ ก็ยืนต้นตาย พร้อมระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่รอบที่ตั้งของโรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด จนนำไปสู่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามรายงานข่าวชิ้นนี้

อ่านประกอบ : "น้ำเสีย" รอบโรงงานรีไซเคิลที่บ้านค่าย จ.ระยอง ทำสวนยางยืนต้นตาย พืชผลเสียหายหนัก

อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา และพบว่าในโรงงานครอบครองน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว ซึ่งเป็นวัตถุอันตราย ประเภทของเสียเคมีวัตถุโดยไม่ได้รับอนุญาต และยังไม่สามารถแสดงเอกสารใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายต่อเจ้าพนักงาน ทั้งที่เคยขอให้แสดงถึง 3 ครั้ง จึงมีคำสั่งให้ไปแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวน

ก่อนหน้านี้ มีหนังสือจากอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 ถึงบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและห้ามประกอบกิจการโรงงาน โดยแจ้งว่า ในที่ประชุมเพื่อติดตามการแก้ปัญหาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 และการลงพื้นที่ตรวจสอบ ได้มีมติขอให้สั่งปิดโรงงานนี้ เพราะไม่มีใบอนุญาตในการประกอบกิจการประเภทนำสารเคมีพิษมาบำบัด

และยังตรวจสอบเพิ่มเติมวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 พบว่า การจัดเก็บน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วและของเหลวปริมาณมากในโรงงาน อาจก่อให้เกิดอันตราย จึงขอให้จัดเก็บให้ถูกต้องตามกฎหมาย และห้ามประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับอนุญาต

ผู้สื่อข่าวได้รับภาพถ่ายซึ่งถูกบันทึกไว้ประมาณช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 หลังอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง มีคำสั่งข้างต้น โดยเป็นการบันทึกภาพระหว่างการเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยทางโรงงานเป็นผู้อนุญาตให้เข้าไป

และพบว่า มีถังบรรจุสารเคมีขนาด 1,000 ลิตร จำนวนมากอยู่ในโรงงาน มีของเหลวบรรจุอบู่ภายในเกือบทุกถัง

พบถังขนาด 200 ลิตร ไม่ทราบวัตถุที่อยู่ด้านใน พบถุงบิ๊กแบ็กและแกลลอนบรรจุน้ำมันจำนวนมาก โดยทั้งหมดวางอยู่ในที่โล่งแจ้งนอกโรงเรือน ไม่มีหลังคาปิดกั้น

ส่วนด้านในอาคารโรงเรือนมีทั้งถังจำนวนมากเช่นกัน และพบกองกากอุตสาหกรรมที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าคือ “ตะกอนน้ำมัน” กองอยู่เต็มพื้นที่

แต่ระหว่างการสำรวจ ไม่พบเครื่องจักรที่จะใช้ในกิจการรีไซเคิลวัตถุเหล่านี้

เมื่อตรวจสอบใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานจากฐานข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็พบว่า โรงงานแห่งนี้มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่ถูกต้อง 2 ใบ คือ โรงงานลำดับที่ 40 ประกอบกิจการ อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และโรงงานลำดับที่ 60 ประกอบกิจการ หล่อและหลอมโลหะ

ส่วนที่อ้างว่าเป็นโรงงานลำดับที่ 106 หรือ โรงงานรีไซเคิล คืนสภาพกรดหรือด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม และล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย พบว่ายังเป็นเพียงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ยังไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล และยังไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิล

จากภาพและข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม และผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดวัตถุอันตราย ให้ความเห็นตรงกันว่า โรงงานแห่งนี้ ไม่สามารถครอบครองวัตถุอันตราย ประเภทน้ำมันหรือของเหลวที่พบอยู่ในโรงงานได้ เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้ครอบครองวัตถุอันตราย ซึ่งก็น่าแปลกใจ

แม้อาจจะอ้างว่าเป็นเพียงการนำของมาพักไว้ก็ตาม แต่ในเมื่อไม่เคยแสดงใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ เหตุใดจึงสามารถขนย้ายวัตถุอันตรายจำนวนมหาศาลเข้ามาในโรงงานได้เป็นเวลานาน โดยไม่ถูกลงโทษจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

และการจัดเก็บวัตถุอันตรายเหล่านี้ ก็ไม่ถูกต้อง เพราะสารเคมีและน้ำมันที่เห็นในภาพทั้งหมด ตามกฎหมายจะต้องถูกจัดเก็บในโรงเรือนที่มีหลังคาปิดอย่างมิดชิด เพราะเป็นสารอันตรายหากรั่วไหลออกสู่ธรรมชาติ แต่ก็มีเพียงคำสั่งให้จัดเก็บให้ถูกต้องเท่านั้น

กากตะกอนน้ำมัน ที่พบกองสูงเป็นบริเวณกว้างในโรงเรือน ก็ถูกตั้งข้อสังเกตเช่นกัน เพราะเป็น “กากของเสียสุดท้าย” ที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้แล้ว เหตุใดจึงถูกนำเข้ามาที่โรงงานแห่งนี้ แทนที่จะถูกส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องในโรงงานที่รับกำจัดวัตถุอันตราย

จึงน่าสนใจว่า เมื่อกากของเสียสุดท้ายถูกส่งมาที่นี่ ทั้งที่ไม่มีศักยภาพในการกำจัด จะถูกนำไปทิ้งอย่างไร และโรงงานแห่งนี้รับของที่ไม่มีประโยชน์เข้ามาไว้ทำไม ถ้าไม่ใช่เป็นเพียงแหล่งรับทิ้งราคาถูกจากโรงงานอื่น แลกกับการส่งไปกำจัดอย่างถูกต้องซึ่งมีราคาสูง

อีกประเด็นที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ โรงงานใช้ใบอนุญาตลำดับที่ 60 คือ หล่อหลอมโลหะ ซึ่งหมายถึงการนำโลหะที่เป็นของแข็งพวก ถัง กะละมัง หม้อ มาหลอม แต่วัตถุอันตรายที่ครอบครองไว้ เป็นของเหลวซึ่งนำมาหลอมไม่ได้ เหตุใดจึงถูกนำเข้ามา

โดยชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่า แม้โรงงานจะไม่ได้ประกอบกิจการ เพราะไม่มีเครื่องจักรใดๆ แต่มีรถบรรทุกวิ่งเข้า-ออกอยู่ตลอด แม้จะถูกสั่งห้ามประกอบกิจการชั่วคราวไปแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ระบุว่า ทางโรงงานอ้างว่า เป็นเพียงจุดพักรถเพื่อนำวุตถุอันตรายเหล่านี้ไปส่งที่โรงงานอื่น


















กำลังโหลดความคิดเห็น