xs
xsm
sm
md
lg

"นักกฎหมาย" แนะผู้เสียหาย "โรงงานรีไซเคิล" ปล่อยน้ำเสียที่บ้านค่าย จ.ระยอง ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม แนะผู้เสียหายจากโรงงานรีไซเคิลในพื้นที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ที่ปล่อยน้ำเสียจนสวนยางยืนต้นตาย พืชผลเสียหายหนัก ฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ฐานปล่อยให้มีโรงงานสร้างผลกระทบทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต

รายงานพิเศษ

สวนยางพารา 36 ไร่ ยืนต้นตายไปกว่า 70% พื้นที่กษตรกรรมได้รับความเสียหายเกือบ 200 ไร่ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพื้นที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่โดยรอบโรงงาน ที่อ้างว่าเป็นโรงงานรีไซเคิล บริษัท วิน โพรเสส จำกัด

แม้จะตรวจสอบพบว่า โรงงานแห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานในปี 2560 คือ ใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 40 อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป และโรงงานลำดับที่ 60 หล่อหลอมโลหะ รวมทั้งพบว่ามีใบอนญาตจัดตั้งโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 แต่มาถึงขณะนี้ ยังไม่ได้ขอประกอบกิจการรีไซเคิล จึงยังทำไม่ได้

แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน ก็ยืนยันตรงกันว่า โรงงานนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มมีผลกระทบต่อน้ำและสิ่งแวดล้อมมาเรื่อยๆ จนมีผลกระทบหนักในปี 2561

อ่านเพิ่มเติม : "น้ำเสีย" รอบโรงงานรีไซเคิลที่บ้านค่าย จ.ระยอง ทำสวนยางยืนต้นตาย พืชผลเสียหายหนัก

นายชำนัญ ศิริรักษ์ นักกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเคยลงพื้นที่ไปตรวจสอบเมื่อปี 2561 บอกว่า ทันทีที่ลงไปเหยียบในพื้นที่จะได้กลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรงขึ้นมาทันที คล้ายกลิ่นแบตเตอรี และเมื่อดูสภาพของพืชที่ตาย ก็จะสังเกตได้ว่าน้ำและดินในบริเวณนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดสูง จึงเชื่อว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีลงไปในดินและน้ำในปริมาณมาก

ก่อนนี้มีข้อสังเกตจากผู้เชี่ยวชาญหลายประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่อการประกอบกิจการของโรงงานแห่งนี้ คือ

1. โรงงานเพิ่งได้ใบอนุญาต 2 ใบ คือ อัดเศษกระดาษ และหล่อหลอมโลหะ เมื่อปี 2560 ทำไมจึงมีผลกระทบมาตั้งแต่หลังปี 2554

2. เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบหลายครั้ง และพบว่า โรงงานครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว โดยไม่เคยแสดงใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายทั้งที่เจ้าหน้าที่ถามหาหลายครั้ง และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการนำสารเคมีพิษมาบำบัด เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเพิ่งไปแจ้งความเมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน) และยังมีเพียงคำสั่งห้สมประกอบกิจการชั่วคราว แต่ยังไม่มีคำสั่งลงโทษ โดยอ้างคำชี้แจงของโรงงาน เป็นเพียงจุดพักของ ทั้งที่การนำของเสียอันตรายมาพัก ก้ต้องขออนุญาตก่อนเช่นกัน

3. กากตะกอนน้ำมัน เป็นของเสียที่รู้กันดีว่า เป็น “กากของเสียสุดท้ายที่เหลือจากการรีไซเคิล” ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ต้องนำไปกำจัดในโรงงานรับกำจัดของเสียอันตรายเท่านั้น ถูกนำเข้ามาในโรงงานนี้เพราะอะไร

4. โรงงานครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมาก แต่ไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิล เหตุใดเมื่อเจ้าหน้าที่เห็นแล้ว จึงไม่ดำเนินการ เช่น ให้ส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง และห้ามนำเข้ามาอีก มีเพียวคำสั่งให้ปรับปรุง (ทั้งที่ไม่เครื่องจักรให้ปรับปรุง)

5. โรงงานใช้ใบอนุญาตประเภท หล่อหลอมโลหะ ซึ่งเป็นของแข็ง แต่วัตถุอันตรายที่ครอบครองกลับมีแต่ของเหลวและกากตะกอนน้ำมัน ถือว่า ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ เหตุใดไม่ดำเนินการ

อ่านประกอบ : เปิดภาพ "โรงงานรีไซเคิล" ที่บ้านค่าย จ.ระยอง เก็บวัตถุอันตรายเพียบ แต่ไม่แสดงใบอนุญาต

นายชำนัญ จึงเห็นว่า หากมองในทางกฎหมาย โรงงานแห่งนี้มีความผิดตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว โดยประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ “ไม่มีใบอนุญาตทั้งการรีไซเคิล ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย แม้แต่ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากท้องถิ่นก็ไม่มี” จึงแปลกใจว่า ทำไมถึงยังไม่ถูกลงโทษอย่างเด็ดขาดจากหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่กำกับดูแล

เมื่อเป็นเช่นนี้ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถใช้ช่องทางทางกฎหมายฟ้องทางแพ่งกับทางโรงงานได้ เพราะการที่โรงงานถูกสั่งห้ามประกอบกิจการ หรือติดต่อเพื่อขอเยียวยาประชาชน หมายถึงยอมรับเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษ

แต่หากจะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่รัฐ ในฐานะมีหน้าที่กำกับดูแลก็ทำได้ เช่น สามารถร้องทุกข์กล่าวโทษต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าเจ้าหน้าที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือ สามารถไปฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ เข้าไปตรวจสอบหลายครั้ง หลายหน่วยงาน และเห็นสภาพภายในโรงงานทั้งไม่มีเครื่องจักร ทั้งไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตราย มีคำสั่งให้ปรับปรุงหลายครั้ง และมีคำสั่งห้ามประกอบกิจการชั่วคราวแล้ว แต่กลับยังไม่ถูกสั่งปิดและปล่อยให้สร้างผลกระทบเรื่อยมา

ส่วนการที่โรงงานติดต่อของจ่ายเงินเยียวยา นายชำนัญ แสดงความเห็นใจประชาชนเพราะเข้าใจดีว่า การต่อสู้ทางกฎหมายอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับความเป็นธรรม แต่ผู้ได้รับผลกระทบ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะการรับเงินเยียวยาจากโรงงาน อาจมีเงื่อนไขทำให้ไม่สามารถฟ้องร้องได้


กำลังโหลดความคิดเห็น