xs
xsm
sm
md
lg

สารพัดปัจจัย ศก.รุมเร้า ฉุดยอดตั้งขยายโรงงาน 2 เดือนแรกวูบ 5.58%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สารพัดปัจจัยทั้งโควิด-19 เทรดวอร์ ภัยแล้งกดดันเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยชะลอตัว ฉุดยอดตั้งและขยายโรงงาน 2 เดือนแรกปีนี้ลดวูบ 5.58% เอกชนยังคงรอสถานการณ์ให้ทุกอย่างคลี่คลาย


แหล่งข่าวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 มีจำนวนโรงงานทั้งสิ้น 530 โรงงาน ลดลง 5.58% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการลงทุนอยู่ที่ 5.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 38.94% จำนวนนี้แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 384 โรงงาน ลดลง 13.31% มูลค่าการลงทุน 1.85 หมื่นล้านบาท ลดลง 57.66% ขณะที่การขยายกิจการมีจำนวน 146 โรงงาน เพิ่มขึ้น 21.66% ขณะที่มูลค่าการลงทุน 3.73 หมื่นล้านบาท ลดลง 21.8% จากช่วงเดียวกันปี 2562 อยู่ที่ 4.77 หมื่นล้านบาท


ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ตัวเลขเปิดกิจการใหม่ลดลงเนื่องจากเอกชนยังคงไม่กล้าตัดสินใจลงทุนเพิ่ม ยกเว้นการขยายกิจการบางส่วนที่วางแผนไว้แล้วเนื่องจากต้องรอผลกระทบของเศรษฐกิจจากโควิด-19 รวมถึงภัยแล้งที่หนักสุดรอบ 40 ปี และเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวลงอีกครั้งจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้า ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนของปัจจัยเหล่านี้ว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด


“อุตสาหกรรมที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตฯ ผลิตยานยนต์และอุปกรณ์ รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 1.55 หมื่นล้านบาท อุตฯ ผลิตภัณฑ์จากพืช 4.84 พันล้านบาท อุตฯ ผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล 4.41 พันล้านบาท อุตฯ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 4.16 พันล้านบาท โดยจำนวนโรงงานที่ลดลงเนื่องจาก พ.ร.บ.โรงงาน 2562 เพิ่งบังคับใช้ปลายเดือนตุลาคม 2562 ซึ่งสาระหลักของ พ.ร.บ.โรงงานที่มีขนาดเล็กมาก ต่ำกว่า 50 แรงม้า แรงงานไม่ถึง 50 คนไม่ต้องมาขอ รง.4” แหล่งข่าวกล่าว


สำหรับการลงทุนในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีจำนวน 70 โรงงาน ลดลง 5.4% มูลค่าการลงทุน 1.88 หมื่นล้านบาท ลดลง 53.8% ส่วนการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 63) มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 และขยายกิจการ จำนวน 163 โรงงาน เพิ่มขึ้น 4.48% มูลค่าการลงทุน 2.22 หมื่นล้านบาท ลดลง 32.77% โดย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีจำนวนเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการที่มีมูลค่ามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตฯ แปรรูปอาหาร 7.92 พันล้านบาท อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ 4.62 พันล้านบาท อุตฯ ดิจิทัล 3.01 พันล้านบาท อุตฯ ยานยนต์ 2.96 พันล้านบาท และอุตฯ เกษตรเทคโนชีวภาพ 2.05 พันล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น