“สศอ.” ศึกษาความต้องการแรงงานรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย พบต้องการตั้งแต่ปี 2562-67 มีความต้องการสูงถึง 2.25 ล้านคนเฉพาะปี 2563 ต้องการ 3.52 แสนคน พบความต้องการแรงงานด้านวิชาชีพสูงสุดโดยเฉพาะอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ แนะรัฐ-เอกชนเร่งปั้นคนให้ตรงความต้องการ
นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า จากกรณีที่นักลงทุนมีความกังวลถึงการขาดแคลนแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อรองรับการพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 สศอ.จึงศึกษาโครงการเตรียมศักยภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่พบว่ามีความต้องการแรงงานตั้งแต่ปี 62-67 ปริมาณรวม 2.25 ล้านคน โดยปี 63 มีความต้องการแรงงาน 3.52 แสนคน และช่วงปี 63-67 มีความต้องการแรงงาน 1.75 ล้านคน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพัฒนาศักยภาพผลิตแรงงานป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอ
“ปัญหาแรงงานตกงานถือเป็นเรื่องระยะสั้น อยากให้มองประเด็นระยะยาว เรื่องความต้องแรงงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกำลังมีความต้องการอย่างมากด้วย โดยตัวเลขความต้องการรวม 2.25 ล้านคน เป็นต้องการทั่วประเทศไม่ใช่แค่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีเท่านั้น โดยใช้การวิเคราะห์ทั้งใช้สมมติฐานในกรณีต่างๆ เช่น การขยายตัวของอุตสาหกรรม การทดแทนแรงงานต่างด้าว รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม” นายอดิทัตกล่าว
สำหรับตัวเลขความต้องการแต่ละอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ มีความต้องการแรงงานรวม 2.35 แสนราย แบ่งเป็นระดับการศึกษาต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.34 หมื่นราย วิชาชีพ 1.15 แสนราย อุดมศึกษา 5.68 หมื่นราย, อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มีความต้องการรวม 2.41 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 6.14 หมื่นราย วิชาชีพ 2.95 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.50 แสนราย, อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.8 หมื่นราย วิชาชีพ 1.26 แสนราย อุดมศึกษา 8.45 หมื่นราย, อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมีความต้องการรวม 2.28 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 2.09 แสนราย วิชาชีพ 8.67 พันราย อุดมศึกษา 9.81 พันราย
ส่วนอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีความต้องการรวม 2.36 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 9.78 พันราย วิชาชีพ 6.97 หมื่นราย อุดมศึกษา 6.87 หมื่นราย, อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ มีความต้องการรวม 2.11 แสนราย แบ่งเป็นวิชาชีพ 7.4 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย, อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์มีความต้องการรวม 2.13 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.7 หมื่นราย วิชาชีพ 1.17 แสนราย อุดมศึกษา 7.89 หมื่นราย
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มีความต้องการรวม 2.16 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 5.2 หมื่นราย วิชาชีพ 7.37 หมื่นราย อุดมศึกษา 8.99 หมื่นราย อุตสาหกรรมดิจิทัล มีความต้องการรวม 2.17 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.73 หมื่นราย วิชาชีพ 5.43 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.45 แสนราย, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร มีความต้องการรวม 2.21 แสนราย แบ่งเป็นต่ำกว่า ม.6 จำนวน 1.77 หมื่นราย วิชาชีพ 6.64 หมื่นราย อุดมศึกษา 1.37 แสนราย