xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์”เคาะเดินหน้าอีอีซีโมเดล เร่งปั้นแรงงาน 4.75 แสนตำแหน่งรองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุวิทย์” เดินหน้าพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดลเร่งผนึก 3 หน่วยงานพัฒนาการศึกษายุคใหม่รองรับความต้องการบุคลากรในอีอีซีป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายช่วง 5 ปีให้ได้ 4.75 แสนตำแหน่ง
วันนี้(4ธ.ค.) นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน การประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซีโมเดล ครั้งที่ 1/ 2562 โดยที่ประชุมได้พิจารณา ความคืบหน้าในการพัฒนาบุคลากรใน อีอีซี ในระยะเวลา 2 ปี ตามหลักการ Demand Driven ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ดำเนินการวิเคราะห์และสรุปความต้องการกำลังคนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญใน อีอีซีโดยคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC)ซึ่งพบว่าในช่วง 5 ปี (2562-2566) มีความต้องการแรงงานทักษะสำคัญ จำนวน 475,793 อัตรา

ทั้งนี้ อุตสาหกรรม 3 อันดับแรกที่มีความต้องการมากที่สุด ได้แก่ ดิจิทัล 24% จำนวน 116,222 ตำแหน่ง โลจิสติกส์ 23% จำนวน 109,910 ตำแหน่ง และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 12% จำนวน 58,228 ตำแหน่ง ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในการร่วมบูรณาการ การทำงานร่วมกันถึง 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม อย่างใกล้ชิดและ เป็นรูปธรรม ตามนโยบาย Demand Driven เน้นการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ ทั้งกลุ่มการศึกษาพื้นฐาน ที่ปรับปรุงทักษะด้านภาษา และการศึกษาด้าน Coding,กลุ่ม STEM

ขณะที่ ระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ปรับสู่ Demand Driven Education ที่มีการจัดการศึกษาในแบบ EEC Model Type A ภายใต้ 3 หลักการ คือ 1. ลดการศึกษาแบบแก่งแย่ง แตกแยก สู่ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยกำหนดตามความถนัดของแต่ละราย 2. ช่วยพัฒนาการศึกษาและบุคลากรให้มีมาตรฐานตามหลักสากล 3. ร่วมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างภาครัฐกับเอกชนในสัดส่วน 50:50 และเอกชนบริจาคอุปกรณ์ชั้นสูง เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรม
นอกจากนี้นโยบาย Demand Driven ยังช่วยลดภาระของทุกฝ่าย เช่น ภาคเอกชน ได้ลดค่าใช้จ่าย ในการลดหย่อนภาษีถึง 2.5 เท่า ภาครัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนน้อยลง เพราะไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ ส่วนผู้เรียน ลดภาระทางการเงิน เรียนจบมีงานที่มีรายได้ดี นอกจากนี้ ผู้เรียนยังสามารถกำหนดทิศทางและวางแผนชีวิตในอนาคตได้อย่างชัดเจนอีกด้วย โดยปัจจุบัน มีสถาบันเข้าร่วมล่าสุด คือ สถาบันอาชีวะในภาคตะวันออกเข้าร่วมจำนวน 12 แห่ง และปีการศึกษา 2562 มีผู้เข้าเรียนในระบบดังกล่าว จำนวน 1,117 คน

ทั้งนี้ EEC-HDC ตั้งเป้าหมายว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี ต้องปฏิรูปหลักสูตรของสถานศึกษาในพื้นที่ อีอีซีอย่างน้อย 80% ให้เป็นไปตามหลักสูตรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล ที่ผ่านมามีการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว 1 หลักสูตร ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาปัญญาประดิษฐ์ประยุกต์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 1 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ขณะที่ภายในปีการศึกษา 2564 จะมีหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่กำลังปรับปรุงให้เป็นไปตาม EEC Model Type อีกไม่น้อยกว่า 100 หลักสูตร
กำลังโหลดความคิดเห็น