xs
xsm
sm
md
lg

ชี้แรงงาน 3 สาขา มาแรง !! เร่งผลิตบุคลากรป้อน EEC

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ดร.คณิศ” ชี้ EEC พื้นที่ใหญ่ตลาดแรงงาน มีสถานประกอบการถึง 3.8 หมื่นแห่ง ล่าสุด บรรจุแล้ว 30,000 อัตรา เผย สาขา ดิจิทัล-โลจิสติกส์-อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เป็นที่ต้องการมากสุด ด้าน “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ระบุ 3 กระทรวง ผนึกกำลังปั้นแรงงานป้อน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ขณะที่ “ปัญญาภิวัฒน์” เปิดวิทยาเขต EEC นำร่อง 2 หลักสูตร

ในยุคเศรษฐกิจขาลง สถานประกอบการหลายแห่งต้องปิดตัว แรงงานจำนวนไม่น้อยพากันตกงาน แต่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กลับมีความต้องการแรงงานจำนวนมาก โดยในช่วง 5 ปี (2562-2566) EEC ต้องการแรงงานถึง 4.7 แสนคน ดังนั้น EEC จึงเป็นที่จับตาของตลาดแรงงานเป็นอย่างยิ่ง

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC)
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ระบุว่า เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ถือเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ โดยภาพรวมความต้องการแรงงานใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซี (7 อุตสาหกรรมเป้าหมาย + 3 โครงสร้างพื้นฐาน) นั้นจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่าในพื้นที่ EEC มีสถานประกอบการ ทั้งสิ้น 38,127 แห่ง แบ่งเป็น จังหวัดชลบุรี 23,563 แห่ง จังหวัดระยอง 9,288 แห่ง และจังหวัดฉะเชิงเทรา 5,276 แห่ง

โดยมีความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภายใน 5 ปี (2562-2566) จำนวนทั้งสิ้น 475,667 คน ประกอบด้วย ระดับอาชีวศึกษา 253,115 คน ปริญญาตรี 213,942 คน และปริญญาโท - เอก 8,610 คน แบ่งเป็น อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 53,739 คน อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 58,228 คน ท่องเที่ยวกลุ่มผู้มีรายได้ดี 16,920 คน หุ่นยนต์ 37,526 คน การบิน 32,837 คน ดิจิทัล 116,222 คน การแพทย์ครบวงจร 11,410 คน ระบบราง (รถไฟความเร็วสูง) 24,246 คน พาณิชย์นาวี 14,630 คน และโลจิสติกส์ 109,910 คน

“น่าดีใจที่ขณะนี้ได้มีการบรรจุบุคลากรเข้าทำงานในพื้นที่ EEC แล้วถึง 30,000 อัตรา ทั้งนี้ทักษะแรงงาน 3 อันดับแรก ที่ EEC มีความต้องการมากที่สุด ก็คือ ดิจิทัล ตามด้วย โลจิสติกส์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ซึ่งล้วนเป็นทักษะความรู้เฉพาะทาง ดังนั้นการพัฒนากำลังแรงงานให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC จึงเป็นเรื่องสำคัญที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ” เลขาธิการ EEC กล่าว


นายคณิศ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการรองรับความต้องการแรงงานใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อีอีซี จึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่ เพื่อนำไปสู่การจัดทำหลักสูตรร่วมที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และการเรียนรู้ตามหลัก Demand Driven โดยได้เสนอปรับโครงสร้างการจัดการการศึกษา การเรียนรู้จากด้าน “อุปทาน” สู่ “อุปสงค์” ตอบโจทย์การมีงานทำ มีรายได้ดี โดยกำหนดแนวทางการผลิตกำลังคนคุณภาพเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรมเป้าหมาย ใน 3 แนวทางด้วยกัน คือ

1. New Skill ปรับปรุงรูปแบบการเรียนการสอน ครูผู้สอน และใช้เครื่องมือ ตรงตามความต้องการในการใช้งานจริงของภาคอุตสาหกรรม

2. Up Skill เพิ่มทักษะให้บุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยี โดยสอนตรงตามความต้องการใช้งานจริง

3. Re Skill เป็นการเพิ่มโอกาสให้คนทำงาน โดยจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น 6-12 เดือน ให้กับคนที่ทำงานไม่ตรงสาขา ขาดประสบการณ์ หรือคนตกงาน

สำหรับ นโยบาย Demand Driven นั้นอีอีซี และหน่วยงานเกี่ยวข้องได้ร่วมกันทำงานภายใต้ 3 แนวคิด ได้แก่ 1) Networking for grand cooperation of us all คือ การสร้างความร่วมมือโดยไม่แบ่งแยกการทำงาน 2) Global standard การสร้างเยาวชนไทยสู่มาตรฐานโลก และ 3) Co-sponsorship 50:50 Public and private ภาครัฐและเอกชนร่วมกันสนับสนุนอย่างเท่าเทียม

“เชื่อว่าการพัฒนาบุลลคลากรที่มีคุณภาพ ตรงกับตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลกให้เข้ามาร่วมลงทุนในเขตอีอีซีได้อย่างแน่นอน” นายคณิศ แสดงความมั่นใจ

ด้าน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซี
ด้าน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรตามแนวทางอีอีซี เปิดเผยว่า เป็นครั้งแรกที่มีการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของ 3 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรแรงงานของชาติ อันได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นไปตามนโยบาย Demand Driven ซึ่งน้นการพัฒนาบุคลากรและการศึกษายุคใหม่

โดยกลุ่มการศึกษาพื้นฐาน จะมุ่งเน้นการปรับปรุงทักษะด้านภาษา และการศึกษาด้าน Coding ขณะที่ ระดับอาชีวะและอุดมศึกษา ได้ปรับบทบาทสู่ Demand Driven Education ที่มีการจัดการศึกษาในแบบ EEC Model Type A ภายใต้ 3 หลักการ คือ 1. ลดการศึกษาแบบแก่งแย่ง แตกแยก สู่ความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและสถานประกอบการ โดยกำหนดตามความถนัดของแต่ละราย 2. ช่วยพัฒนาการศึกษาและบุคลากรให้มีมาตรฐานตามหลักสากล และ 3. ร่วมทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายระหว่างภาครัฐกับเอกชนในสัดส่วน 50:50 อีกทั้งภาคเอกชนยังได้บริจาคอุปกรณ์ชั้นสูงที่ใช้ในการฝึกทักษะการทำงาน เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพ ตรงตามความต้องการของแต่ละอุตสาหกรรมได้

“ นโยบาย Demand Driven ยังช่วยลดภาระของทุกฝ่าย เช่น ภาคเอกชน ได้ลดค่าใช้จ่าย
ในการลดหย่อนภาษีถึง 2.5 เท่า ภาครัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุนน้อยลง เพราะไม่ต้องลงทุนซื้ออุปกรณ์ใหม่ ส่วนนักเรียนนักศักษาก็สามารถลดภาระทางการเงิน เรียนจบก็มีงานที่มีรายได้ดี ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันอาชีวะในภาคตะวันออกเข้าร่วมโครงการแล้วถึง 12 แห่ง โดยปีการศึกษา 2562 มีผู้เข้าเรียนในระบบดังกล่าว จำนวนถึง 1,117 คน” นายสุวิทย์ กล่าว

นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร  บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้คณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC-HDC) ตั้งเป้าหมายว่า ภายในระยะเวลา 5 ปี จะต้องปฏิรูปหลักสูตรของสถานศึกษาในพื้นที่ อีอีซีอย่างน้อยร้อยละ 80 ให้เป็นไปตามหลักสูตรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล โดยที่ผ่านมามีการพัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาตรีแล้ว 1 หลักสูตร ได้แก่ วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาปัญญาประดิษฐ์ประยุกต์ และอยู่ในระหว่างการดำเนินการอีก 1 หลักสูตร ได้แก่ วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ขณะที่ภายในปีการศึกษา 2564 จะมีหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่กำลังปรับปรุงให้เป็นไปตาม EEC Model Type อีกไม่น้อยกว่า 100 หลักสูตร

ไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้นที่มีความตื่นตัวในการพัฒนาบุคลากรแรงงานให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC สถาบันการศึกษาในเขตพื้นที่ EEC ต่างก็ขานรับที่จะจัดทำหลักสูตรและผลิตบุคลากรเพื่อป้อนตลาดแรงงานในเขต EEC เช่นกัน ล่าสุด สถาบันการศึกษาภายใต้กำกับดูแลของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทย อย่าง สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ก็เดินหน้าขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยได้จัดตั้งสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาเขตอีอีซี (PIM EEC) ขึ้นที่ จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ภายใต้เขต EEC ทั้งนี้เพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในสาขาวิชาที่อุตสาหกรรมในเขต EEC ต้องการ

ภาพจำลองสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาเขตอีอีซี (PIM  EEC)
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ วิทยาเขตอีอีซี (PIM EEC) จะเปิดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี ภายใต้คณะนวัตกรรมและเทคโนโลยี ในหลักสูตรนำร่อง 2 หลักสูตร คือ หลัก 1) สูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอัตโนมัติ ที่เน้นการเรียนการสอนเรื่องการออกแบบและติดตั้งระบบอัตโนมัติ ระบบเทคโนโลยีรถไฟ ระบบเทคโนโลยีค้าปลีก ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่ทาง ซีพี ออลล์ มีความเชี่ยวชาญ โดยมุ่งเป้าไปที่การผลิตบุคลากรตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ เช่น อุตสาหกรรม 4.0 เมืองอัจฉริยะ หรือสมาร์ทซิตี้ และเกษตรสมัยใหม่ หรือ Smart Farming

และ 2) หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มุ่งเรียนรู้ในเรื่อง เทคโนโลยีดิจิทัลแห่งยุค อย่างเช่น IoT, Big Data, AI หรือ ระบบ Automation หุ่นยนต์ หรือ Robotics เพื่อสร้างบุคลากรที่สามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ในการปฏิบัติงานจริง โดยเนื้อหาจะครอบคลุมทั้ง เทคโนโลยีดิจิทัลเนื้อหาด้านความมั่นคงระบบเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Cyber Security ด้วย

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามต่อไปว่าจากความทุ่มเทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะสามารถผลิตบุลคลากรที่มีทักษะฝีมือตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใน EEC ได้ทันเวลาหรือไม่ ? และ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดปัญหาการว่างงานของคนไทยได้จริงหรือเปล่า ?


กำลังโหลดความคิดเห็น