ประจวบคีรีขันธ์ - นักเรียนพาณิชย์วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ เข้าร้องศูนย์ดำรงธรรมประจวบคีรีขันธ์ หลังผู้บริหารเปลี่ยนระบบการเรียนเป็นทวิภาคี กระทบคุณภาพทางวิชาการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ลดขนาดห้องเรียนเหลือเพียงห้องเดียว
วันนี้ (11 ธ.ค.) ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ แผนกบัญชี รวมตัวกันมาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนผู้บริหารวิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ ที่เปลี่ยนระบบการเรียน ในปีการศึกษา 2563 ตามหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาลัย จะต้องเปิดการสอนระดับ ปวส. ระบบปกติและระบบทวิภาคี เป็นการเปิดการเรียนการสอนระบบทวิภาคีเพียงอย่างเดียว จากเดิมที่มีการสอนระบบปกติมาตลอด 30 ปี และเปิดระบบทวิภาคีควบคู่กัน ซึ่งระบบทวิภาคี คือการเรียนในวิทยาลัย 1 ปี และไปทำงานในโรงงานหรือสถานประกอบการอีก 1 ปี
ซึ่งข้อเรียกร้องของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคและกลุ่มผู้ปกครอง คือ 1.วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ อยู่ในตัวเมืองประจวบคีรีขันธ์ มีจำนวนนักเรียนที่เขตพื้นที่จำนวนมาก ขณะที่สถานประกอบการในสาขาวิชาที่เรียนโดยเฉพาะสาขาบัญชีการเงิน มีในเขตพื้นที่น้อย 2.นักเรียนที่จะไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หลังจบ ปวส. การเรียนในระบบทวิภาคีส่งผลให้โอนหน่วยกิต เข้ามหาวิทยาลัยได้น้อย
เนื่องจากระบบทวิภาคี มีเวลาเรียนแค่ 1 ปี ขณะที่ระบบปกติ เรียน 2 ปี จึงไม่ได้เรียนในบางรายวิชา 3.ระบบทวิภาคีอาจมีประโยชน์สำหรับนักศึกษาช่างอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถฝึกงานในโรงงานได้ แต่สำหรับนักศึกษาพาณิชยการ จะต้องฝึกในสำนักงานทำบัญชีเท่านั้น ซึ่งสถานประกอบการในอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ไม่เพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา 4.การฝึกงานระยะเวลา 1 ปี เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่าครองชีพ ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ทำให้ผู้ปกครองที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบการเรียน 5.การฝึกงานไกลจากบ้านเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผู้ปกครองเป็นห่วงสวัสดิภาพความปลอดภัยของบุตรหลานที่ไปอยู่ไกลจากบ้าน
นางชุลีพร ชุมพล อายุ 52 ปี ผู้ปกครองนักศึกษาพาณิชยการสาขาบัญชี กล่าวว่า หากเรียนในระบบทวิภาคี ความรู้ไม่แน่นแน่นอน ตนเองเรียน ปวส.ที่วิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งใช้ระบบปกติ สาขาบัญชีเป็นการเรียนที่ยาก หากเรียนเพียงปีเดียว ความรู้ไม่มากพอ และสถานประกอบการคงไม่ให้นักศึกษาจับงานที่มีความละเอียดหรือยาก เพราะจะกระทบต่อชิ้นงานลูกค้าของบริษัท ซึ่ง 1 ปีที่ฝึกงานกับเอกชนจะไม่ได้ประโยชน์ และค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่หลายคนไม่ได้มีความพร้อมในการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
น.ส.ก้อย (นามสมมติ) นักศึกษา ปวช.ปี 3 สาขาบัญชี กล่าวว่า การเปลี่ยนจากระบบปกติเป็นระบทวิภาคี ในปีการศึกษา 2562 ชั้น ปวส. เปิดเรียน 2 ห้อง มีนักเรียนที่เรียนระบบปกติ จำนวน 80 คน ส่วนทวิภาคีมี 11 คน ส่วนในปี 2563 จะยุบห้องเรียนเหลือเพียง 1 ห้อง และบังคับให้ทุกคนลงเรียนระบบทวิภาค ขณะที่นักเรียน ปวช.ปี 3 จำนวน 90 คน มี 3 ห้อง เมื่อจะเรียนต่อชั้น ปวส. จะทำให้วิทยาลัยรับนักศึกษาได้น้อยลงกว่าครึ่ง และหลายคนไม่พร้อมที่เรียนระบบทวิภาคี ซึ่งห้องเรียนที่เปิดรองรับได้ประมาณ 40 คน
ในสาขาบัญชีเมื่อทำงานต้องฝึกในสำนักงานบัญชีเท่านั้น ซึ่งนักศึกษาต้องไปอาศัยที่อำเภอหัวหินซึ่งมีสถานประกอบการมากแต่ไกลจากอำเภอเมืองเกือบ 100 กิโลเมตร ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ที่สำคัญการเรียนทวิภาคี จำนวนหน่วยกิตหรือวิชาเรียนหายไปหลายวิชา เพราะเรียนทฤษฎีในชั้นเรียนเพียง1 ปี หากฝึกทำงานจริงการทำบัญชีเป็นเรื่องยากต้องมีพื้นฐานที่ดีวิทยาลัย ซึ่งสถานประกอบการคงไม่มาสอนเข้ม ทำให้ความรู้ของนักศึกษาน้อยกว่าระบบปกติ รวมถึงการศึกษาต่อในระดับปริญญา และจำนวนหน่วยกิตที่เทียบโอนไม่ได้
ล่าสุด ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวไว้แล้ว จากนั้นจะมีการรายงานให้ นายพัลลภ สิงหเสณี ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รับทราบ รวมทั้งจะต้องมีการเชิญผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคประจวบคีรีขันธ์มาสอบถามข้อเท็จจริง และประชุมหาข้อสรุปร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งนี้ ในส่วนของนักเรียนยืนยันว่า หากยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขในเรื่องนี้จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป