xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด” เตือนรับมือพายุใหญ่ จี้ สสว.-แบงก์รัฐเร่งอัดสภาพคล่องอุ้มเอสเอ็มอีด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สมคิด" สั่ง สสว. และแบงก์รัฐร่วมหามาตรการเติมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีหลังยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนอีกเพียบ ลั่นหากปล่อยไว้อาจซ้ำรอยปี 40 รับตอนนี้ไทยและทั่วโลกเจอพายุใหญ่ ดัน สสว.เร่งของบเข้า 5 หมื่นล้านชง ครม.สัปดาห์หน้า

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยภายหลังประชุมมอบนโยบายการช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ว่า ปัจจุบันปัญหาใหญ่ของเอสเอ็มอียังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาพลิกฟื้นธุรกิจหลังได้รับผลกระทบโควิด-19 ดังนั้นจึงขอให้ สสว.และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เร่งหามาตรการเข้าไปดูแลเพื่อเสริมสภาพคล่องให้เร็วสุด หากปล่อยไว้ต่อไปเอสเอ็มอีอาจต้องล้มหายไปอีกจำนวนมากกลับไปเหมือนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540

“ตอนนี้เราเจอพายุใหญ่ ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทุกประเทศเจอหมด หากไม่ตั้งรับดีๆ จะเหนื่อยหมด และผู้ถูกกระทบก่อนคือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งหากเราไม่ช่วยไม่ดูแลคนจะตกงานเยอะ แบงก์เองจะต้องเข้ามาดูแลเร่งด่วน” นายสมคิดกล่าว

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สสว.ทำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 7 กรกฎาคมนี้เพื่อขออนุมัติงบประมาณจำนวน 50,000 ล้านบาทจากงบเยียวยา เพื่อจัดทำโครงการเติมพลังฟื้นชีวิต ต่อทุนเอสเอ็มอี ที่จะนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ คาดว่าเงินก้อนแรกจะสามารถนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ประมาณ 500,000 ราย และรัฐบาลมีความตั้งใจว่านอกจากวงเงิน 50,000 ล้านบาทก้อนแรกแล้ว ยังจะช่วยเหลืออีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็น 100,000 ล้านบาท

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ามีเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ หรือแหล่งเงินทุน รวมประมาณ 24% หรือประมาณ 765,000 ราย จากฐานข้อมูล 3.105 ล้านราย ซึ่งการช่วยเหลือเอสเอ็มอี เบื้องต้นโครงการดังกล่าว ดอกเบี้ย 1% ระยะเวลาผ่อน 10 ปี มีวงเงินสินเชื่อประมาณ 100,000 บาทต่อรายในการเติมพลังให้กับเอสเอ็มอี หรือจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือนประมาณ 500 บาท ส่วนกลุ่มเพิ่มทุนเพื่อสร้างศักยภาพ จะเป็นการเติมทุนให้แก่ผู้ประกอบการ มีวงเงินกู้ให้เสริมสภาพคล่องในวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย จ่ายดอกเบี้ยเดือนละ 9,182 บาท ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะประกาศอีกครั้งหลังจากผ่าน ครม. คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น