xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ประกอบการท้องถิ่นแห่ร่วมโปรเจกต์ “อีสานเดิ้น” เตรียมคัด 20 รายทำเครื่องประดับจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันอัญมณีฯ เผยโครงการ “อีสานเดิ้น” สุดฮอต ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับพื้นที่อีสานใต้ 5 จังหวัด แห่สมัครเข้าร่วม 329 ราย ส่งทีมไปจัดอบรมแล้ว เตรียมคัดเหลือ 20 ราย มาเวิร์กชอปเข้มที่กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาสินค้าต้นแบบ ก่อนผลิตเป็นสินค้าจริง พร้อมช่วยผลักดันจำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออก

นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) ว่าขณะนี้มีผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานใต้เป้าหมาย ได้แก่ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ สุรินทร์ นครราชสีมา และอุบลราชธานี สมัครเข้าร่วมโครงการมากถึง 329 ราย จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 200 ราย และ GIT ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่จัดการฝึกอบรมครบทั้ง 5 จังหวัดแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความโดดเด่น มีอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ให้เหลือ 20 ราย ก่อนที่จะช่วยพัฒนาเชิงลึกต่อไป

“หลังจากเปิดตัวชี้แจงโครงการผ่านทางออนไลน์ โครงการอีสานเดิ้นก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการท้องถิ่น มีคนสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ถึง 329 ราย และ GIT ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปฝึกอบรมผู้ประกอบการครบทุกจังหวัดแล้ว กำลังจะคัดเลือกมา 20 ราย เพื่อมาทำเวิร์กชอปที่กรุงเทพฯ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบแถวหน้าของประเทศ”

สำหรับผลงานต้นแบบที่มีการคิดค้นออกมา จะถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายจริง และทาง GIT จะช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ โดยมีช่องทางออนไลน์ เช่น ที่ TEMP Pop-Up Store by GIT และนำไปจัดแสดงภายในงานแสดงสินค้า เช่น งานบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรี แฟร์ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำตลาดต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ GIT ได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค (Gems Treasure) จำนวน 15 จังหวัด มีผู้ผ่านการอบรมกว่า 1,300 ราย และสามารถผลิตชิ้นงานเครื่องประดับต้นแบบได้กว่า 30 คอลเลกชัน และประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายให้กับผู้ผลิตในท้องถิ่น และหลายรายสามารถขยายตลาดออกไปยังต่างประเทศได้แล้ว

ทั้งนี้ ล่าสุด GIT ได้พัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรึกษา ชื่อว่า “CARAT” (กะรัต) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในภูมิภาคได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถาบันได้จัดผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ทั้งด้านอัญมณี โลหะมีค่า และการออกแบบ พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวเปิดให้ดาวน์โหลดแล้วผ่านระบบ IOS และ Android


กำลังโหลดความคิดเห็น