“วีรศักดิ์” สั่งสถาบันอัญมณีฯ ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับท้องถิ่นใน 5 จังหวัดอีสานใต้ เตรียมส่งทีมติวเข้ม สอนเทคนิคทำธุรกิจ ส่งนักออกแบบชื่อดังเข้าไปช่วยปรับ พัฒนาสินค้าให้มีความทันสมัย สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันแต่ยังคงอัตลักษณ์ท้องถิ่นเอาไว้ พร้อมนำผลงานจัดแสดงที่สถาบัน และนำเข้าร่วมงานบางกอกเจมส์เพื่อเปิดตัวออกสู่ตลาดต่างประเทศ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ต่อยอดการลงพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยในท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยให้เพิ่มพื้นที่เป้าหมายในภาคอีสานใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งมีสินค้าที่ผลิตมีเอกลักษณ์ของภูมิภาคที่สะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างชัดเจนมาเป็นจุดขาย พร้อมให้บูรณาการร่วมกับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่โดยใช้เครื่องประดับท้องถิ่นเป็นสิ่งดึงดูดผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ล่าสุดจีไอทีแจ้งว่ากำลังจะจัดโครงการพัฒนาเครื่องประดับของชนเผ่าเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมใน 5 จังหวัดดังกล่าวแล้ว โดยจะเปิดอบรมหลักสูตรอัญมณีศาสตร์ ทักษะเชิงช่าง การออกแบบเครื่องประดับ รวมถึงความรู้ด้านธุรกิจและการตลาดในยุคดิจิทัล รวมทั้งจะส่งนักออกแบบชื่อดังไปร่วมค้นหาอัตลักษณ์และสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งนักออกแบบแต่ละท่านจะดึงจุดเด่นที่น่าสนใจของแต่ละจังหวัด และเครื่องประดับในท้องถิ่นมาปรับให้ร่วมสมัย สามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน แต่ยังคงความเป็นอัตลักษณ์ของสินค้าท้องถิ่นให้คงอยู่
“กระทรวงพาณิชย์มั่นใจว่าโครงการนี้จะยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค และยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางการค้า ช่วยสร้างรายได้ และนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชนในภูมิภาคได้อย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล”
สำหรับผลงานของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ผ่านการพัฒนา จีไอทีจะช่วยขยายช่องทางการจำหน่าย โดยจะนำมาจำหน่าย ณ TEMP Pop-Up Store by GIT บริเวณชั้น 1 อาคารไอทีเอฟ ทาวเวอร์ ถนนสีลม และนำไปจัดแสดงภายในงานแสดงสินค้าบางกอกเจมส์ แอนด์ จิวเวลรีแฟร์ ครั้งที่ 65 ในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการขยายตลาดสินค้าไทยจากชุมชนสู่ตลาดสากล