คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรมตบเท้าเข้าพบ “สุริยะ” รุดหารือแนวทางช่วยเหลือผลกระทบโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรม “สุริยะ” กางแผนยืนยันมาตรการเพียบ เผยได้เสนอของบฟื้นฟูฯ 4 แสนล้านบาท วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทแล้ว มั่นใจช่วยขับเคลื่อน ศก.
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้าร่วมหารือของ คณะกรรมาธิการการอุตสาหกรรม นำโดย นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันท์ ประธานคณะกรรมาธิการ และรองประธานคณะกรรมาธิการคนที่ 1-6 พร้อมคณะ ว่า คณะกรรมาธิการฯ ได้มาหารือและแลกเปลี่ยนแนวทางการช่วยเหลือและส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงฯ ได้ยืนยันถึงความพร้อมในมาตรการต่างๆ ไว้รองรับแล้ว โดยได้มีการประสานงานกับเอกชน ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้า และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ล่าสุดกระทรวงฯ ได้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณตามโครงการตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม ภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ฯ 400,000 ล้านบาท วงเงินรวม 15,250 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย 1. พลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ วงเงิน 13,018 ล้านบาท เช่น การฟื้นฟูเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยเพื่อรองรับ New Normal การพลิกฟื้นเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมอาหาร การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise : IDE) การยกระดับผู้ประกอบการด้านการมาตรฐาน และการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรเป็นทุน
2. ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน วงเงิน 1,653 ล้านบาท เช่น การพัฒนาตลาดและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนววิถีใหม่ และยกระดับเศรษฐกิจฐานราก การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีจัดการห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และการบริหารจัดการน้ำในขุมเหมืองเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง
3. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิต วงเงิน 579 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบโครงข่ายยกระดับทักษะบุคลากรแห่งชาติ การยกระดับอุตสาหกรรมด้วย smart tech ระบบดิจิทัลเพื่อการวิเคราะห์และให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม การพลิกฟื้นอุตสาหกรรมศักยภาพสู่วิถีใหม่ และการจัดทำคลังข้อมูลอัจฉริยะด้านอาหาร
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ยังได้มีมาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการ อาทิ มาตรการฟื้นฟูเอสเอ็มอีและภาคผลิตในนิคมอุตสาหกรรม เช่น การเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างรายได้ด้วยแพลตฟอร์ม Cloud Kitchen Food Truck ร่วม Big Brother ให้กับเอสเอ็มอี การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีโรงงานอุสาหกรรมทั่วประเทศ การยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการเสริมสภาพคล่องทางการเงินจากกองทุนเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ 6,250 ล้านบาท การพักชำระ/ขยายการผ่อนชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนฯ 18 ล้านบาท เป็นต้น ขณะเดียวกันยังได้มีการช่วยเหลือประชาชนในการป้องกันโควิด-19 ด้วยการผลิตหน้ากากผ้าเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชน จำนวน 10 ล้านชิ้น เป็นต้น