xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.-ก.อุตฯ จ่อดึงงบฟื้นฟู ศก.พลิกโฉมหน้าเกษตรแปรรูปไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ส.อ.ท.ร่วมหารือกับกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมผนึกกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากจ่อดึงงบฟื้นฟูฯ กว่าหมื่นล้านบาทขับเคลื่อน ล็อกเป้าใหญ่อุตสาหกรมเกษตรแปรรูปและอาหารเน้นแบบเร่งด่วนเพื่อรักษาระดับจ้างงานให้ท้องถิ่น ส.อ.ท.วางโมเดลนำร่อง 5 ภาควางเครือข่ายเชื่อมอุตฯที่เกี่ยวข้องพลิกโฉมหน้าเกษตรไทยทั้งวางระบบชลประทานชุมชนสู้ภัยแล้ง แอปพลิเคชันจองใช้เครื่องจักร เป็นต้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฟื้นฟูหลังโควิด-19
เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมประชุมโครงการภายใต้กรอบนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่มีนางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานซึ่งที่ประชุมได้หารือถึงแผนการขอเงินสนับสนุนเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจฯ 4 แสนล้านบาทของกระทรวงอุตสาหกรรมว่าจะสามารถร่วมมือกับส.อ.ท.ในส่วนใดบ้างโดยเบื้องต้นสิ่งที่สอดรับกัน คือ การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารซึ่งสอดคล้องกับโจทย์ของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก(Local Economy)และเน้นระยะเร่งด่วน(ควิกวิน)ในการรักษาระดับหรือเพิ่มการจ้างงานให้มากสุด

“ได้หารือร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงอุตสาหกรรมถึงแผนงานที่จะเสนอของบฟื้นฟูฯ 4 แสนล้านบาทซึ่กระทรวงอุตฯ คาดว่าจะเสนอขอใช้งบประมาณส่วนนี้ราวหมื่นกว่าล้านบาทซึ่งงบส่วนใหญ่จะอยู่ในส่วนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ซึ่งส.อ.ท.ก็จะทำงานร่วมกันเพราะเรามี ส.อ.ท.จังหวัดและมีกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆที่จะร่วมขับเคลื่อนให้เกิดศักยภาพสูงสุดซึ่งโครงการต่างๆ ที่จะร่วมกันจะเป็นระยะสั้นเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้เร็วสุดที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง” นายเกรียงไกรกล่าว

สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารของ ส.อ.ท.จะวางโมเดลต้นแบบนำร่องไว้ใน 5 ภูมิภาค ได้แก่ เหนือ กลาง ตะวันตก ตะวันออก และภาคใต้ โดยมองการพัฒนาเป็นแบบคลัสเตอร์ที่จะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องโดยอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่จะเข้ามาร่วมกันทำเรื่องการพัฒนาระบบชลประทานในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งเช่น การขุดบ่อ วางระบบท่อน้ำ ฯลฯ โดยมีแนวคิดคล้ายกับการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนซึ่งตรงกับแนวทางของกระทรวงอุตสาหกรรม และจะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรที่จะมีการพัฒนาแอปพลิเคชันช่วยเกษตรกรที่ไม่สามารถซื้อเครื่องจักรได้เองเพราะต้องลงทุนสูงมาใช้บริการ อาทิ รถไถนา เครื่องเกี่ยวข้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะมาเสริมในการวางระบบเซ็นเซอร์ในการตรวจวัดสภาพความชื้นอากาศ และดิน เพื่อผลักดันไปสู่การนำเทคโนโลยีมาบริหารจัดการให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น หรือสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนก็จะเข้ามาช่วยในเรื่องของระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ (พาราโบลาโดม) และมองถึงแนวทางการพัฒนาพลังงานใช้เองเช่น ไบโอแก๊ส เป็นต้น ส่วนด้านการตลาดก็จะมุ่งพัฒนาไปสู่อีคอมเมิร์ซ ซึ่ง ส.อ.ท.ก็จะมีส่วนนี้เข้าไปร่วมดูแล และรวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ที่จะไปสนับสนุนด้านการออกแบบบรรจุภัณฑ์สินค้าให้เกษตรกรต่างๆ เป็นต้น

“อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารเป็นเป้าหมายสำคัญเพราะเกี่ยวข้องกับเกษตรกรโดยตรงที่เป็นฐานราก ขณะเดียวกัน เมื่อมองอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องที่เข้าไปดำเนินการเช่น วัสดุที่จะทำชลประทานชุมชนเราก็จะทำให้มีดีมานด์ของท่อพีวีซี เป็นต้น เหล่านี้ก็จะเกื้อกูลกันและทำให้เงินหมุนเวียนในไทยซึ่งเป้าหมายแผนฟื้นฟูฯ ของ ส.อ.ท.มุ่งเน้น 2 กลุ่มคือ 45 กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม 11 คลัสเตอร์ ที่เน้นการใช้สินค้าไทย เน้นการพัฒนาตลอดห่วงโซ่การผลิต และอีกกลุ่มคืออุตสาหกรรมใหม่ที่มีอนาคต 6 อุตสาหกรรม” นายเกรียงไกรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น