“สมคิด” โวไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่เตรียมทำแผนฟื้นฟู ศก.หลังโควิด-19 จบลง ดึง ส.อ.ท. สภาหอฯ และภาคเอกชน กระทรวงอุตฯ ร่วมคลังทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) มิ.ย.รองรับ “สุริยะ” กางแผนจ่อชงงบหมื่นล้านบาทกระตุ้น ศก.ฐานรากฟื้นฟูเกษตรกรชาวไร่อ้อยรักษาระดับจ้างงาน “อุตตม” พร้อมรับข้อเสนอเอกชนกระตุ้น ศก.
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ว่า ขณะนี้ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังที่จะทำแผนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการปลดล็อกปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 400,000 ล้านบาทอยู่แล้ว โดยขอให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เข้ามาร่วมมือเพราะถือเป็นหัวใจที่จะทำให้ไทยก้าวผ่านโควิด-19 ไปได้ และจะเห็นแผนนี้ชัดเจนในเดือน มิ.ย.
“เราเป็นประเทศแรกๆ ของโลกที่มีแผนฟื้นฟู ศก.หลังจบโควิด-19 เพราะขณะนี้ไทยมียอดติดเชื้อลดต่ำลงมาก และเศรษฐกิจฐานรากเป็นสิ่งจำเป็นเพราะส่งออก ท่องเที่ยวคงไม่ฟื้นแน่นอน และจะหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาโตเช่นอดีตคงยากถ้าสหรัฐฯ และยุโรปเขายังเป็นเช่นนี้อยู่ แรงงานจะกลับมาสู่โรงงานทั้งหมดก็ยังคงยากอยู่ ทำอย่างไรที่จะให้เข้าไปสู่การผลิตภาคการเกษตรที่ยกระดับคุณภาพไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร การพัฒนาสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) นี่คือทางรอดที่จะหล่อเลี้ยงสังคมไทยให้ข้ามผ่านจุดนี้ไปได้ นี่คือหัวใจ” นายสมคิดกล่าว
ดังนั้น ด้านการเงินคลังจะใช้กลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ฯลฯ เข้ามาดูแลให้เข้าสู่ระบบดีไซน์ แต่สิ่งสำคัญคือภาคเอกชนจะต้องเน้นเอาสินค้าที่จะพัฒาไปสู่ตลาดในประเทศได้อย่างไร ซึ่งเบื้องต้นได้หารือกับรายใหญ่ทั้งร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 บิ๊กซี ท็อปส์ รวมถึง ปตท.ด้วยเช่นกัน จึงเห็นว่าทางสภาหอการค้าฯ และ ส.อ.ท.ควรจะเข้ามาดูช่องทางเพิ่มด้วย ขณะเดียวกันขอให้เร่งทำฐานข้อมูล (Big Data) ต่อไปจะเป็นสิ่งจำเป็นมาก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า โลกเปลี่ยนแปลงไป ทุกประเทศเน้นปกป้องอุตสาหกรรมตัวเอง ประเทศไทยใช้โอกาสนี้จะหันมาให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจฐานรากมากขึ้น โดยในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมเองได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และภัยแล้ง วงเงินรวมประมาณ 10,000 ล้านบาทที่จะขอสนับสนุนจากงบฟื้นฟูฯ ที่มี 4 มาตรการ เช่น การจัดหาแหล่งน้ำและจ้างงาน อาทิ จัดหาแหล่งน้ำและช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ประสบปัญหาภัยแล้ง วงเงิน 367 ล้านบาท ที่จะช่วยรักษาระดับแรงงานชาวไร่อ้อย ฯลฯ
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวว่า จะรับข้อเสนอของภาคเอกชนไปพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือและฟื้นฟูต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มุ่งเน้นช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบภาคเกษตร และระยะต่อไปจะเร่งมุ่งเน้นในภาคธุรกิจต่างๆ ให้มากขึ้น
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนนโยบาย Local Economy ได้เตรียมที่จะพัฒนาช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านออนไลน์ให้เป็นช่องทางเดียวร่วมกับสภาหอการค้าฯ จากปัจจุบันที่ต่างฝ่ายต่างมีช่องทางในการดำเนินงานของตนเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐเร่งพิจารณาข้อเสนอของเอกชนในระยะสั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบธุรกิจที่ยังค้างการพิจารณา อาทิ ขอยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SME 3 ปี ทุกธุรกิจ (ปีภาษี 63-65)โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filling ปรับอัตราภาษี หัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทเป็นอัตราเดียว 1% เฉพาะปี 2563