สภาพัฒน์ เปิดเพจ “ร่วมด้วยช่วยคิด” รับปัญหาโควิด-19 ทำธุรกิจ"เจ๊ง" หลังตั้ง 5 ทีมภาคเอกชน ดึง กูรูรับผิดชอบ ดูกลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล เอกชนแนะ รัฐช่วยแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง
วันนี้ (13 เม.ย.) มีรายงานจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงสาย มีการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากมีการหารือมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาที่ติดขัดในภาคเอกชนว่าภาคธุรกิจติดขัด และการปรับตัวต่อสถานการณ์ในอนาคตหากมีการคลี่คลาย
ที่ประชุมได้แบ่ง คณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และธนาคารแห่งประเทศไทย รับผิดชอบเพื่อดูแล การเข้ามาช่วยเหลือภาคธุรกิจหลายแห่งว่าอยู่ที่ใดบ้าง ที่ยังไม่สามารถเข้าถึง "มาตรการสินเชื่อ-ซอฟท์โลน" มีนายปรีดี ดาวฉาย ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย รับผิดชอบ
กลุ่มที่ 2 กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ประกอบด้วยหอการค้าไทยรับผิดชอบ กลุ่มธุรกิจที่กลับมาเปิดกิจการ เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง และคำนึงถึงความปลอดภัยต่อโควิด-19 รวมถึงดูแลระบบโลจิสติก เพื่อไม่ให้ทุกอย่างสะดุด มีนายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
กลุ่มที่ 3 กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบดูแลภาคเกษตรกรทั้งระบบ ทั้งการแก้ปัญหาเร่งด่วน ว่าจะทำอย่างไร รวมทั้งผลผลิตระยะยาว มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกร ดูแล
กลุ่มที่ 4 กลุ่มมาตรการเพื่อภาคเกษตร ประกอบด้วย สภาเกษตรกรแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ รับผิดชอบ กลุ่มเอสเอ็มอี เข้ามาดูว่าทำอย่างให้ "ไมโคร-เอสเอ็มอี" ที่มีเงินทุนต่ำกว่า 10 ล้านบาท ยังอยู่ได้อย่างไร มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
กลุ่มที่ 5 กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล (Digital Solution) ซึ่งจะได้พิจารณาคู่ขนานกันไป เพื่อประกอบการพิจารณาในครั้งต่อไปรับผิดชอบ เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตทุกด้าน มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ดูแล
"ทั้ง 5 คณะทำงาน จะมีการประชุมสรุปรายละเอียดในสัปดาห์นี้ เพื่อนำข้อเสนอทัั้งหมดจะนำเข้าครม.สัปดาห์หน้า เพื่อทำให้เร็วที่สุด"
ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ปัญหาและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากโควิด 19 จึงได้ตั้งคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนภาคเอกชน
ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สภาเกษตรกรแห่งชาติ สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ
เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะ การป้องกัน และแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมได้หารือและข้อเสนอแนะจากภาคเอกชนที่สำคัญ อาทิ
(1) ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่า ft ตามราคาน้ำมัน (2) เอกชนสามารถนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า (3) ขอให้รัฐออกคำสั่งปิดกิจการโรงแรมเพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคม (4) ขอให้ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ปีภาษี 2562-2563 กรณี SMEs เหลือไม่เกิน 10% และกรณีผู้ประกอบการอื่น เหลือไม่เกิน 20% (5) รัฐจัดสรรงบประมาณในการจ้างงานและซื้อสินค้าจากผู้ผลิตภายในประเทศ (6) ผ่อนปรนการเข้าถึงสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ (7) อนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมง ชม. ละ 40-41 บาท 4-8 ชม/วัน
(8) ลดเงินสมทบประกันสังคมของนายจ้างจาก 4% เหลือ 1% (9) ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท รัฐจ่าย 50% บริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง (10) บริษัทนำค่าใช้จ่ายด้านค่าจ้างแรงงาน ในช่วง COVID-19 มาหักภาษี 3 เท่า (11) การผ่อนปรนมาตรการเคอร์ฟิวสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในเวลากลางคืน
(12) การช่วยเหลือผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารระหว่างเมืองให้มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังเสนอถึงปัญหาอุปสรรคและความชัดเจนของมาตรการ เช่น การเข้าถึงวงเงินสินเชื่อผ่อนปรนที่มีเงื่อนไขค่อนข้างรัดกุมทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถเข้าถึงได้ การกำหนดหลักเกณฑ์การค้ำประกันเพื่อลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงิน การช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถจ้างแรงงานโดยใช้ประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และการกำหนดมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ครอบคลุมทั้งระยะเร่งด่วน และระยะฟื้นฟู รวมถึงการปรับโครงสร้างภาคเกษตรไปสู่การทำเกษตรที่มั่นคงและยั่งยืน ซึ่งประเด็นต่างๆ จะได้มีการหารือในรายละเอียดในครั้งต่อไป
นอกจากนี้ ระยะต่อไป สศช. จะได้ดำเนินการประมวลความต้องการจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเปิดพื้นที่สาธารณะในการรับฟังความคิดเห็นผ่าน Facebook “ร่วมด้วยช่วยคิด” ซึ่งจะได้รวบรวม ประมวลและนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป.