xs
xsm
sm
md
lg

“สมคิด-สุริยะ” สั่งลุยแจกหน้ากากผ้าฟรี 10 ล้านชิ้น-จ่อปลดล็อกรถขนส่งวิ่งได้ทุกเวลากระจายสินค้าให้ทั่วถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สมคิด"-"สุริยะ" ร่วมวงถกบิ๊กธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภค และบริโภครับมือโควิด-19 เร่งเครื่องผลิตหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้นทยอยแจกฟรีแก่ประชาชนภายใน 1-2 สัปดาห์นี้นำร่อง ก.อุตฯ เล็งให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปฯ กรุงไทย “สุริยะ” เตรียมถกคมนาคมปลดล็อกรถขนส่งวิ่งได้ตลอดเวลาช่วง 2 เดือนเพื่อกระจายสินค้าให้ทั่วถึง ด้านซีพี ไทยเบฟ ปตท. ส.อ.ท. ฯลฯ การันตีสินค้ามีเพียงพอ ประชาชนไม่ต้องกักตุน

วันนี้ (18 มี.ค.) นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับผู้ประกอบการ เช่น บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บมจ.ไทยเบฟเวอเรฟ, บมจ.สหพัฒนพิบูล, กลุ่ม บ.ยูนิลีเวอร์, บมจ.ปตท., บุญรอดบริวเวอรี่ กลุ่มค้าปลีก เช่น บิ๊กซี, ท็อปส์, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อเตรียมพร้อมการผลิตสินค้าอุปโภค บริโภค หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือที่จะรองรับต่อความต้องการของประชาชนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นโยบายสำคัญครั้งนี้ได้ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสถาบันสิ่งทอและ ส.อ.ท.ที่จะผลิตหน้ากากอนามัยแบบผ้าเพื่อแจกจ่ายแก่ประชาชนฟรีจำนวน 10 ล้านชิ้นให้เสร็จภายใน 2 เดือนนี้ โดยหากเป็นไปได้ให้ทยอยแจกจ่ายในอีก 1-2 สัปดาห์เพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ด้านงบประมาณไม่ต้องกังวลรัฐพร้อมจะสนับสนุนให้อยู่แล้ว สำหรับช่องทางการแจกจ่ายให้พิจารณาดูว่าจะดำเนินการผ่านช่องทางใด โดยอาจจะใช้สถานีบริการน้ำมันของ ปตท. สาขาของร้านค้าสะดวกซื้อ 7-11 หรือธนาคารต่างๆ ได้หรือไม่

นอกจากนี้ ในส่วนของสินค้าอุปโภคและบริโภคก็ต้องการให้สร้างความเชื่อมั่นว่าไทยนั้นเป็นผู้ผลิตอาหารที่สำคัญของโลก มีกำลังการผลิตเหลืออยู่มาก จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกในการกักตุน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเตรียมพร้อมในแง่ของระบบการขนส่งหรือโลจิสติกส์ ที่ถึงที่สุดกรณีปิดเมืองบางจังหวัดแต่การขนส่งไม่มีการปิดแต่อย่างใด รวมถึงการเตรียมพร้อมในแง่การบริการประชาชนที่จะให้มีสินค้าอุปโภคและบริโภคจัดส่งในช่วงที่ประชาชนบางส่วนกักตัว เช่น การจัดส่งอาหารแบบดีลิเวอรี (Delivery) เป็นต้น ขณะเดียวกัน ขอให้ภาคเอกชนชะลอการเลิกจ้างออกไปก่อน โดยรัฐจะหามาตรการมาเยียวยาช่วยอีกทางหนึ่ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อ 17 มี.ค.ได้อนุมัติให้กระทรวงอุตสาหกรรมผลิตหน้ากากผ้า 10 ล้านชิ้น โดยสนับสนุนงบประมาณ 65 ล้านบาท แบ่งเป็นสนับสนุนให้เอกชน 60 ล้านบาท อีก 5 ล้านบาท โดยคิดที่ต้นทุน 5 บาท/ชิ้น จำนวน 5 ล้านชิ้น และราคาต้นทุนที่ 7 บาท/ชิ้น จำนวน 5 ล้านชิ้น โดยจะเร่งให้เอกชนผลิตแจกภายใน 1-2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับกระทรวงคมนาคมถึงการปลดล็อกเวลาการเดินรถขนส่งโดยไม่จำกัดเวลา เป็นเวลา 2 เดือน รวมถึงการปลดล็อกงดรถใหญ่วิ่งช่วงสงกรานต์ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า


นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสากรรม กล่าวว่า เบื้องต้นแนวทางการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยแบบผ้าแก่ประชาชนจะใช้วิธีลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตุง หรือช่องทางออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งทางไปรษณีย์จะจัดส่งให้ถึงบ้าน หรืออาจให้ประชาชนสามารถไปรับได้ที่ร้านธงฟ้า ปั๊ม ปตท. อย่างไรก็ตาม ขอเวลาหารือกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อกำหนดวิธีลงทะเบียน และแจกจ่ายแก่ประชาชนอย่างไรให้ชัดเจนก่อน

นายวรวิทย์ เจนธนากุล กรรมการบริหาร และรองกรรมการผู้จัดการบริหาร บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือซีพีเอฟ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้มาในนามซีพี และอีกฐานะหนึ่งในฐานะเลขาธิการมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งแนวทางการแก้ไขหน้ากากอนามัยรัฐได้ดำเนินการไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่มูลนิธิฯ ได้ประสานซัปพลายเออร์ที่ประเทศจีนที่จะนำเข้าประมาณ 5 แสนชิ้น ซึ่งกรมศุลกากรไม่ได้เก็บอากรนำเข้าแต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ จึงต้องการฝากรัฐพิจารณาในเรื่องนี้ด้วย

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่รัฐผ่อนผันนำเอทานอลสำหรับเชื้อเพลิงมาผลิตเจลแอลกอฮอล์ทำให้สามารถกระจายแอลกอฮอล์ไปถึงประชาชนได้อย่างเพียงพอ ขอให้ประชาชนสบายใจได้

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้้นปลาย ปตท. กล่าวว่า ในฐานะดูแลด้านพลังงาน ยืนยันว่าน้ำมันจะมีเพียงพอ รวมถึงวัตถุดิบปิโตรเคมีที่จะนำไปสู่การแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์เพื่อรองรับการผลิตเจลล้างมือมีเพียงพอเช่นกัน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ลำดับที่ 11 ของโลก โดยส่วนใหญ่ยังใช้กำลังการผลิตไม่ได้เต็มที่ เช่น ข้าวสารมีถึง 18.72 ล้านตัน แต่ใช้ในประเทศเพียง 11.5 ล้านตัน บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกำลังผลิต 10 ล้านตันต่อวัน และยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 15 ล้านตันต่อวัน เป็นต้น จึงจะเห็นว่าไทยมีศักยภาพเพียงพอในการผลิตเพื่อป้อนให้ความต้องการในประเทศโดยประชาชนไม่จำเป็นต้องกักตุนแต่อย่างใด
กำลังโหลดความคิดเห็น