รฟม.ยังปิดดีลสัญญาสายสีเหลืองต่อขยายไม่ได้ เหตุกลุ่ม BTS ยังไม่รับเงื่อนไขชดเชยผลกระทบผู้โดยสาร MRT ส่วนสีม่วงใต้ เร่งปรับแบบจุดขึ้น-ลงสถานี คาดเปิดประมูลโยธา 7.7 หมื่นล้าน ก.ย.นี้
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ขณะนี้การเจรจา 3 ฝ่าย ระหว่าง รฟม., บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) ผู้รับสัมปทานสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน MRT กรณีที่การต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากสถานีแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ส่งผลกระทบทำให้ผู้โดยสาร MRT ลดลง ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากกลุ่ม EBM ยังไม่ตอบยืนยันในการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างไร
ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.เมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ได้รับทราบแล้ว และให้ รฟม.ไปเจรจาต่อเพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยจะนัดประชุม 3 ฝ่ายอีกครั้งในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากทางกลุ่ม EBM ยังไม่ยืนยันชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น อาจจะต้องเสนอบอร์ด รฟม.พิจารณาตัดสิน
จากการศึกษาพบว่า กรณีต่อขยายสายสีเหลืองจากลาดพร้าวไปถึงแยกรัชโยธิน ซึ่งจะเป็นการไปต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้นมีผลกระทบทำให้ผู้โดยสาร MRT ลดลง เบื้องต้นประมาณ 6,000 คน/วัน แต่ทาง BEM จะต้องพิสูจน์จำนวนผู้โดยสารและรายได้ที่ลดลงจริงว่าเป็นเท่าไร ซึ่งจะต้องรอให้โครงการสีเหลืองต่อขยายเปิดบริการก่อน
เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงนั้นอาจจะมีหลายปัจจัย ทั้งเรื่องมีส่วนต่อขยายสายสีเหลือง หรือจากโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ครอบคลุม ซึ่งบางจุดอาจจะส่งต่อผู้โดยสารให้กัน แต่บางจุดอาจจะแย่งผู้โดยสารกัน
ทั้งนี้ ในหลักการเห็นตรงกันแล้ว แต่ รฟม.ต้องให้ EBM ตอบรับการชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อระบุเป็นเงื่อนไขในสัญญาส่วนต่อขยาย ว่าหากในอนาคตรถไฟฟ้า MRT มีผลกระทบเกิดขึ้นและพิสูจน์ว่าเกิดจากส่วนต่อขยายสายสีเหลืองจะทำให้สามารถเปิดเจรจากันได้
สำหรับสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าว ถึงแยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ลงทุนกว่า 3,700 ล้านบาท โดยมีกลุ่ม EBM (บีทีเอส-ซิโนไทยฯ-ราชกรุ๊ป) รับสัมปทาน
@คาด ก.ย.นี้เปิดขายซองสายสีม่วงใต้ 7.7 หมื่นล้าน
ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ว่า ขณะนี้ รฟม.ได้ร่วมกับสำนักงานทรัพยสิน กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ลงพื้นที่สำรวจเพื่อปรับเขตทางบริเวณทางขึ้น-ลงสถานี ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้ จากนั้นจะทำการปรับแก้แบบให้เป็นไปตามข้อตกลง และคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.ย.นี้
โดยรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. (โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม.) มีค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท การประมูลแบ่งเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย งานใต้ดิน 4 สัญญา งานทางยกระดับ 1 สัญญา และงานระบบราง 1 สัญญา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และเปิดบริการในปี 2569