บอร์ด รฟม.เคาะขยายลดค่าโดยสารสีม่วงเหลือ 20 บาท อีก 3 เดือน และชะลอขึ้นราคาสีน้ำเงินถึงสิ้นปี ช่วยลดภาระประชาชน เผยผลกระทบโควิด-19 ต้องปรับแผนรถไฟฟ้าภูมิภาคอีก 6 เดือน ขณะที่ประเมินผลงานผู้ว่าฯ รฟม.ผ่านฉลุย ลุ้นอีก 6 เดือนงานหินกระตุ้นเดินทางเพิ่ม
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (11 มิ.ย.) มีมติเห็นชอบขยายเวลา การลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เหลือ 14-20 บาท ออกไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่ 1 ก.ค. ถึง 30 ก.ย. 2563) ซึ่งเป็นมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน ตามนโยบายนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 และเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางด้วยรถไฟฟ้ามากขึ้น
ทั้งนี้ การลดค่าโดยสารสายสีม่วงไม่มีผลกระทบต่อภาวะเงินสดของ รฟม. โดยสามารถนำรายได้จากค่าสัมปทานสายสีน้ำเงินมาช่วย แต่จะยังไม่สามารถวิเคราะห์ประเมินผลตอบรับจากการลดค่าโดยสารได้ เพราะเป็นภาวะไม่ปกติจาก โรคโควิด-19 ซึ่งผู้โดยสารเลดลงหลือไม่ถึง 1 หมื่นคน/วัน จากปีที่แล้ว ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ยถึง 6 หมื่นคน/วัน
โดยล่าสุดผู้โดยสารสายสีม่วงเริ่มเพิ่มขึ้น อยู่ที่กว่า 3 หมื่นคน แต่เนื่องจากยังมีมาตรการ เว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ทำให้การรองรับผู้โดยสารในแต่ละขบวนมีจำกัด ซึ่งบอร์ดจึงให้ผู้ว่าฯ รฟม.วิเคราะห์สถานการณ์ผู้โดยสารช่วงครึ่งหลังปี 63 จนถึงกลางปี 64 และเก็บข้อมูลกลุ่มผู้โดยสารที่ผู้ใช้บริการตามมาตรการลดค่าครองชีพ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณามาตรการหลังจากสิ้นสุดเดือน ก.ย.ต่อไป
ปรับแผนรถไฟฟ้าภูมิภาค ขยายเวลาศึกษา 6 เดือน
นายสราวุธกล่าวว่า โรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการของ รฟม. โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในภูมิภาค จังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ และนครราชสีมา ที่อยู่ระหว่างศึกษา เพราะยังไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็น การมีส่วนของของประชนได้ตามขั้นตอน ดังนั้นจึงต้องปรับแผนงานตารางโครงการออกไปประมาณ 3-6 เดือน นอกจากนี้จะต้องทบทวนการศึกษาในบางประเด็นที่ได้รับผลกระทบ เช่น ปริมาณผู้โดยสาร ที่อาจจะมีการปรับเปลี่ยน ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และเพื่อให้การลงทุนมีความคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งไม่เกี่ยวกับโครงการสายสีส้ม สายสีม่วง ที่อยู่ระหว่างเตรียมเปิดประมูลตามแผน
ประเมินรอบ 6 เดือน “ผู้ว่าฯ รฟม.” ผ่านฉลุย
นอกจากนี้ บอร์ด รฟม.ยังได้ประเมินการทำงานของนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.รอบ 6 เดือน (ก.ย. 62 - มี.ค. 63) ซึ่งผ่านการประเมิน ด้วยคะแนนค่อนข้างดี แม้จะมีโรคโควิด-19 ช่วงปลาย ก.พ.-มี.ค.ที่ทำให้การเดินทางและจำนวนผู้โดยสารลดลง การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ถือว่าตัวชี้วัดเสียเปรียบจากสถานการณ์ แต่เนื่องจากการทำงานในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทั้งการก่อสร้างและปริมาณผู้โดยสาร อยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก แต่สำหรับการประเมินช่วง 6 เดือนต่อจากนี้ คือ เม.ย.-ก.ย. 63 ซึ่งยังมีผลกระทบในเรื่องโควิด-19 อยู่ จะเป็นช่วงที่ท้าทายการทำงานของ รฟม.อย่างมาก ว่าจะสามารถพลิกวิกฤตที่มีเงื่อนไขในการให้บริการ หลายเรื่อง โดยจะหามาตรการใดมากระตุ้นให้ประชาชนมาใช้บริการรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายปีนี้หรือปีหน้าจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า MRT สีน้ำเงิน และสีม่วง อาจจะยังไม่กลับไปเท่าเดิม เนื่องจากยังมีปัจจัยลบ เช่น คนส่วนหนึ่งยังกลัวการติดเชื้อ จะยังไม่เดินทางด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงนักท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งยังมีเงื่อนไขมาตรการเว้นระยะห่าง
สำหรับการปรับค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ทุก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนด ในวันที่ 3 ก.ค. 63 ตามสัญญาสัมปทาน 1 บาท โดยนโยบาย รมว.คมนาคมต้องการให้ช่วยลดค่าครองชีพประชาชน ซึ่งบอร์ด รฟม.ได้อนุมัติตามเงื่อนไข โดย บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้มีหนังสือให้ความร่วมมือในการจัดเก็บค่าโดยสารในอัตราเดิมที่ 16 และสูงสุด 42 บาท ต่อไปจนถึงสิ้นปี 63 โดยไม่มีการสงวนสิทธิ์ใดๆ
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ข้อมูลวันที่ 9 มิ.ย. รถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสาร 38,000 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงแรกที่เกิดโควิด-19 ผู้โดยสารลดลงเหลือ 8,000 คน/วัน ซึ่งสายสีม่วง รฟม.จ้าง BEM เดินรถ 1,700 ล้านบาท/ปี กรณีผู้โดยสารลดลง และลดค่าโดยสารสีม่วงอีก 3 เดือน รฟม.ไม่มีปัญหาทางการเงิน เนื่องจาก รฟม.ยังมีรายได้จากสัมปทานสายสีน้ำเงิน กว่า 2,000 ล้านบาท/ปี ช่วยอุดหนุน
อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังมีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 4 ซึ่งในส่วนของระบบรถไฟฟ้าคาดว่าจะมีการคลายมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้สามารถรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นเป็น 70% ของความจุ หรือประมาณ 500 คน/ขบวน จากปัจจุบัน รับได้เพียง 200-250 คน/ขบวน ขณะที่ช่วงปกติที่รองรับสูงสุดได้ถึง 800-1,000 คน/ขบวน