“พาณิชย์” เปิดตัวต้นแบบบล็อกเชน “ข้าวอินทรีย์” เผยตรวจสอบได้ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง มั่นใจช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า เล็งพัฒนาระบบต่อ คาดเปิดใช้งานได้ช่วงปลายปี 63 พร้อมขยายผลไปสินค้าเกษตรและอาหารอื่นเพิ่ม
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนานำเสนอร่างผลการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) และการทดลองระบบ TraceThai.com กับข้าวอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้านำร่อง ว่า ผลการทดลองเป็นที่น่าพอใจ เพราะช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลถูกต้องและไม่สามารถแก้ไขได้ สามารถกำหนดลำดับชั้นของข้อมูลว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือเปิดเผยเฉพาะคู่ค้า ทำให้สามารถรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลส่วนบุคคลได้ รวมทั้งเป็นการทำงานด้วยระบบดิจิทัลทำให้ลดงานด้านเอกสารแบบดั้งเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย
“การเลือกข้าวอินทรีย์เป็นสินค้านำร่อง เพราะมีมูลค่าสูง มีศักยภาพส่งออก มีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน คุ้มค่าในการพัฒนาระบบ โดยโลกหลังโควิด-19 การตรวจสอบย้อนกลับจะยิ่งทวีความสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมา สินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีศักยภาพและเป็นสินค้าดาวรุ่ง และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะยิ่งเป็นดาวรุ่งมากขึ้น หากมีการยกระดับมาตรฐานและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับรองรับเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค”
สำหรับระบบบล็อกเชน จะสามารถตรวจสอบย้อนกลับไปได้ว่าข้าวอินทรีย์ เพาะปลูกจากที่ไหน ใครเป็นผู้ผลิต ได้รับการรับรองมาตรฐานใด จากหน่วยงานใด โดยปัจจุบัน สนค. และที่ปรึกษาโครงการกำลงอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาระบบ ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาให้แล้วเสร็จและพร้อมทดลองใช้งานช่วงปลายปี 2563 จากนั้น จะขยายผลไปสู่สินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ ต่อไป รวมถึงการต่อยอดพัฒนาระบบการค้าที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันการเงิน เป็นต้น
นายชัยโย เตโชนิมิต นักพัฒนาระบบและผู้เชี่ยวชาญบล็อกเชน กล่าวว่า การทำงานของระบบบล็อกเชนเป็นการบันทึกข้อมูลตามกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการจัดเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมีหน่วยงานรับรองมาตรฐานเป็นผู้ยืนยันความถูกต้อง รวมถึงการออกแบบระบบให้รักษาความลับทางการค้าและกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้ รวมทั้งมีการควบคุมปริมาณผลผลิตรวม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้จริง ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ตลาดเกษตรอินทรีย์ไทยขยายตัวมากขึ้นในอนาคต
ส่วนระดับการเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะใบรับรองเกษตรอินทรีย์ ได้รับข้อคิดเห็นว่าควรกำหนดสิทธิดูข้อมูลเฉพาะคู่ค้าที่ได้รับอนุญาต และแสดงเฉพาะเลขที่ใบรับรอง ให้ผู้บริโภคทั่วไปตรวจสอบ เพื่อป้องกันการนำรูปไปปลอมแปลงหรือนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต