“คมนาคม” กางผังเวนคืน เร่งทยอยส่งมอบพื้นที่ “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” เข้าพื้นที่ขุดเจาะสำรวจชั้นดินแล้ว มั่นใจไม่มีปัญหา ขณะที่ “กลุ่มซีพี” เริ่มสำรวจทรัพย์สิน “แอร์พอร์ตลิงก์” เร่งโอนก่อน ต.ค. 64 ตามเงื่อนไขสัญญา
นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานเร่งรัดการส่งมอบพื้นที่และการรื้อย้ายสาธารณูปโภค โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน “ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา” ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,544 ล้านบาท ครั้งที่ 4/2563 (ครั้งที่ 6) วันที่ 10 มิ.ย. ว่าการเคลียร์พื้นที่เพื่อให้บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร) เริ่มดำเนินการก่อสร้างนั้นยังอยู่ในกรอบแผนงานและระยะเวลาที่กำหนด โดยขณะนี้ทางกลุ่มซีพีได้เริ่มเข้าพื้นที่ขุดเจาะสำรวจชั้นดินแล้ว
โดยเน้นพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ใช้ในโครงการจะเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ซึ่งจะต้องมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่เพื่อไม่ให้มีปัญหา โดยได้สั่งการให้ทั้ง 3 หน่วยงานไปเร่งรัดขั้นตอนการอนุญาต และแนะนำการดำเนินการกับผู้ที่จะขออนุญาตเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องมีกระบวนการ ขั้นตอนการขออนุญาตตามระเบียบทางกฎหมายที่ต้องใช้เวลาดำเนินการพอสมควร
เริ่มสำรวจทรัพย์สิน “แอร์พอร์ตลิงก์” เร่งโอนก่อน ต.ค. 64
สำหรับการโอนโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์นั้น ตามสัญญาจะต้องโอนให้กลุ่มซีพีภายใน 2 ปี หลังการลงนามในสัญญา หรือภายในเดือน ต.ค. 2564 โดยขณะนี้ทางเอกชนได้เข้าทำการสำรวจทรัพย์สินและระบบรถไฟฟ้า ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์แล้ว โดยได้เน้นย้ำในเรื่องการบริหารและให้บริการระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ หลังจากที่มีส่งมอบให้ซีพีไปแล้วว่าจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องปรับปรุงบริการ โดยกลุ่มซีพีจะรับโอนทรัพย์สินของโครงการ
สำหรับพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด จะมีการโอนไปยังผู้รับสัมปทานรถไฟเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่นั้น ไม่มีการกำหนดไว้ในสัญญา แต่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของกลุ่มซีพีว่ามีความต้องการอย่างไร
สำหรับพื้นที่ในการก่อสร้างโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบินนั้น แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. เวนคืนที่ดิน 2. พื้นที่บุกรุก และ 3. การรื้อย้ายสาธารณูปโภค มีความคืบหน้าเป็นที่พอใจ โดยจากการเข้าสำรวจพื้นที่อย่างละเอียด พบว่า ในส่วนการเวนคืน เดิมประเมินว่าต้องเวนคืน 857 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา (ตร.ว.) ล่าสุดจะเวนคืนเพิ่มเป็น 885 ไร่ 3 งาน 88 ตร.ว. โดยมีแปลงที่ดินที่ต้องเวนคืนเพิ่มเป็น 931 แปลง จากเดิม 924 แปลง / อาคารสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มเป็น 360 หลัง จากเดิม 334 หลัง
ส่วนพื้นที่บุกรุก มี 2 กลุ่ม จำนวนรวม 1,352 หลัง โดยกลุ่มที่ 1 คือ ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ มีผู้บุกรุก 782 หลัง โดยที่มีผลกระทบต่อโครงการจำนวน 197 หลัง และกลุ่มที่ 2 ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มีผู้บุกรุก 570 หลัง กระทบต่อโครงการ 30 หลัง โดยกลุ่มที่ 1 นั้น ไม่ต้องมีการฟ้องร้องดำเนินคดีผู้บุกรุก แต่กลุ่มที่ 2 ต้องทำการฟ้องร้อง 212 หลัง
ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคนั้น จากการสำรวจพบว่างบประมาณสำหรับการรื้อย้ายสาธารณูปโภคเปิดพื้นที่ก่อสร้างมีจำนวนลดลง โดยเดือน ม.ค. 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการขอรับจัดสรรงบประมาณกลางปี 2563 เพื่อดำเนินงานดังกล่าว จำนวน 479 ล้านบาท แต่ล่าสุดเดือน มี.ค. ลดลงเหลือ 335.74 ล้านบาท เนื่องจากวงเงินที่รายงาน ครม.นั้นเป็นกรอบดำเนินการ แต่เมื่อสำรวจพื้นที่อย่างละเอียดแล้วพบว่าตัวเลขมีการปรับเปลี่ยนตามสภาพพื้นที่จริง และคาดว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณภายในเดือน พ.ค.นี้