“การบินไทย” จัดประชุมให้ข้อมูลผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน กรณีตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เผยยื่นศาลล้มละลาย เดินหน้าแนวทางแก้ไขเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัท
วันนี้ (8 มิ.ย.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมให้ข้อมูลแก่ผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน และผู้ที่เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Meeting) กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขึ้นเครื่องหมาย C บนหลักทรัพย์ของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 อันเนื่องมาจากการที่บริษัทฯ ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 และศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563
โดยบริษัทฯ ได้รายงานสรุปแนวทาง ขั้นตอนการแก้ไข ประเด็นพิจารณาและการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัจจัย ดังนี้
1. สภาพการแข่งขันในธุรกิจสายการบินทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศที่ปรับเปลี่ยนและทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในปี 2547 ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนนโยบายโดยเปิดน่านฟ้าเสรี ทำให้บริษัทฯ ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาทั้งจากสายการบินต้นทุนต่ำ และจากสายการบินต่างชาติที่ต้องการเข้ามาแข่งขันในประเทศไทย
2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลให้บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องยกเลิกเที่ยวบินอย่างกะทันหัน ทำให้มีลูกค้าถูกยกเลิกบัตรโดยสารและขอเงินคืนเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนการบินของบริษัทฯ เช่น การให้บริการคลังสินค้า การให้บริการอุปกรณ์ภาคพื้น ครัวการบิน ให้บริการลดลง
3. ปัญหาความไม่คล่องตัวในการดำเนินธุรกิจจากการมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของบริษัทฯ ซึ่งหากบริษัทไม่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ บริษัทไม่มีทางที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อบริษัท เจ้าหนี้ พนักงานของบริษัท ผู้ลงทุน ประชาชน และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ เนื่องจากธุรกิจของบริษัท เป็นฟันเฟืองที่มีส่วนสำคัญในการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ดังนั้น หากธุรกิจของบริษัทต้องหยุดไป ย่อมส่งผลกระทบต่อค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมด้านอื่นๆ ในวงกว้าง
สำหรับแนวทางการแก้ไขเพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ประสบความสำเร็จ ได้แก่
1. การเสนอแต่งตั้งผู้มีประสบการณ์ให้เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหา โดยบริษัทฯ ได้เสนอให้บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับคณะกรรมการบริษัทจำนวน 6 ท่าน ได้แก่ พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการของบริษัทฯ เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท
2. ช่องทางการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ในด้านต่างๆ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแผนฟื้นฟูกิจการที่จัดทำขึ้นโดยผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการที่ศาลตั้ง ได้แก่ การปรับโครงสร้างหนี้ การปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับปรุงฝูงบิน การปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์ และความสามารถในการหารายได้ การปรับปรุงโครงสร้างองค์กร
ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อความสำเร็จในการฟื้นฟูกิจการ คือ ความร่วมมือของเจ้าหนี้ การสนับสนุนของรัฐบาล และปัจจัยอื่นๆ อาทิ แนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต สภาพเศรษฐกิจโดยรวม ภัยพิบัติและการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ความผันผวนของราคาน้ำมัน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น