xs
xsm
sm
md
lg

3 โรงกลั่น ปตท.ร่วมพลัง Synergy สู้โควิด โอด Q1 ขาดทุนสต๊อกน้ำมันรวม 3.5 หมื่นล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ราคาน้ำมันโลกที่ตกต่ำจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ไปทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ออกมาไม่ดี กลุ่ม ปตท.โดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีและการกลั่นเองก็ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่กดดันราคาน้ำมันดิบต่ำและความต้องการใช้น้ำมันก็ปรับลดลงด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันอากาศยาน (JET) ที่หดหายจากการยกเลิกบินของสายการบินต่างๆ จากมาตรการล็อกดาวน์

กลุ่มธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมีของ ปตท. ที่ประกอบด้วย บมจ.ไทยออยล์ (TOP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) และ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ทำให้เกิดผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันจำนวนมากในไตรมาส 1/2563 รวม 35,695 ล้านบาท ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงมากอย่างรวดเร็ว และจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์ และอะโรเมติกส์ กับวัตถุดิบที่ลดลง ส่งผลให้ ปตท.ในฐานะบริษัทแม่ ต้องแบกรับภาระขาดทุนสต๊อกน้ำมันตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ราว 1.5 หมื่นล้านบาท ทำให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2563 ปตท.ขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ถือเป็นอีกไตรมาสที่ ปตท.มีผลดำเนินงานขาดทุน หลังจากเคยบันทึกขาดทุนสุทธิมาแล้ว 3 ครั้ง นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น โดยขาดทุนสุทธิในไตรมาส 4/2554 วงเงิน 2.21 หมื่นล้านบาท, ไตรมาส 4/2557 ขาดทุนสุทธิ 2.66 หมื่นล้านบาท และไตรมาส 3/2558 ขาดทุนสุทธิ 2.65 หมื่นล้านบาท

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังไม่สามารถประเมินได้ชัดเจนว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด ดังนั้น ปตท.จึงได้ระดมสรรพกำลังเพื่อหาแนวทางรับมือและผ่านพ้นช่วงวิกฤตดังกล่าวนี้ โดยได้ร่วมจัดทำ PTT group value chain optimization เพื่อการบริหารอุปสงค์-อุปทาน ปริมาณสินค้าคงคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการดำเนินการตามแนวทาง 4R’s ได้แก่ Resilience การปรับตัว สร้างความยืดหยุ่นให้แก่องค์กรให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง, Restart เตรียมความพร้อมในการนำธุรกิจ พนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า กลับสู่สภาวะปกติให้เร็วที่สุด และรักษาความสามารถในการแข่งขัน, Re-imagination จัดเตรียมรูปแบบธุรกิจเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเป็น Next normal และ Reform จัดโครงสร้างองค์กรและธุรกิจให้สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต และพร้อมรองรับทุกสภาวการณ์ที่ไม่คาดคิด

นอกจากนี้ ปตท.ได้ทำการทดสอบความสามารถการรับวิกฤตและความท้าทายในรูปแบบต่างๆ (Stress Test) และ แผนการบรรเทาผลกระทบ (Mitigation Plans) รวมถึงจัดตั้งทีม PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนและบริหารจัดการภาพรวมของกลุ่ม ในการรับมือช่วงสถานการณ์วิกฤต พร้อมปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อให้กลุ่ม ปตท.สามารถเตรียมรับทุกสถานการณ์ในอนาคต

จากนโยบายดังกล่าวนี้ ทาง ปตท.สั่งให้บริษัทลูกจัดทำแผนดำเนินธุรกิจใหม่โดยปรับลดงบการลงทุนลง 10-15% ชะลอการลงทุนโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการ และปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เพื่อรักษากระแสเงินสดให้เพียงพอ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยืดเยื้อออกไปนานธุรกิจต้องอยู่รอดได้

นอกเหนือจากการปรับแผนการลงทุนใหม่เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์แล้ว ทางกลุ่มโรงกลั่นและปิโตรเคมีในเครือ ปตท.ทั้ง 3 บริษัทยังผนึกกำลังโดยคำนึงผลการดำเนินธุรกิจในภาพรวม (Groupoptimization) โดยมุ่งเน้นความร่วมมือในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในธุรกิจปกติของแต่ละบริษัท ประกอบด้วย มาตรการด้านการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง โดยทุกบริษัทพยายามลดปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของตลาด รวมทั้งการบริหารความเสี่ยง เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Hedging) และบริหารจัดซื้อน้ำมันดิบ (Crude management) ร่วมกันเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินการผลิตและลดความผันผวนของตลาดอีกทั้งยังเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์และสร้างความร่วมมือ (Synergy) ภายในกลุ่มด้วย

ดังนั้น กลุ่มธุรกิจการกลั่นและปิโตรเคมี ทั้ง 3 บริษัทในเครือ ปตท.ได้ประชุมร่วมกันและตกผลึกเพื่อทำ Synergy เริ่มตั้งแต่การจัดหาน้ำมันดิบมาเจ้าสู่กระบวนการกลั่น รวมทั้งแผนการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งเดิมซื้อจากหรือส่งไปยังประเทศที่มีการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ไปยังประเทศอื่นแทน รวมทั้งรักษาส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศ และติดตามสถานการณ์ทางการเงินของคู่ค้าอย่างใกล้ชิด

ส่วนมาตรการแผนกำลังการผลิตก็จะต้องติดตามและปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาดที่มีความผันผวนสูง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกำลังการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวว่า ทั้ง 3 บริษัท ประกอบด้วย PTTGC TOP และ IRPC ได้มีการ Synergy เฉพาะธุรกิจการกลั่นมาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยร่วมมือกันตั้งแต่การจัดซื้อน้ำมันดิบร่วมกันทำให้มีความยืดหยุ่น ขณะเดียวกัน การแบ่งงานและทำตลาดก็ร่วมมือกัน จากเดิมที่ต่างคนต่างทำ เช่น ไทยออยล์ยังเน้นการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงรองรับตลาด โดยที่ PTTGC จะไม่ผลิต JET แต่ให้ไทยออยล์ผลิต JET แทนป้อนให้ลูกค้า PTTGC แทน ซึ่งมาเปรียบเทียบกับก่อนที่มีการ Synergy หากได้กำไรดีกว่าเดิมก็ร่วมมือกันต่อไป แต่ถ้าไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีหรือแย่ลงแต่ละบริษัทก็กลับไปทำเหมือนเดิม

การร่วมมือ Synergy ของกลุ่มโรงกลั่น ปตท.นี้ ไม่ได้กำหนดว่าโรงกลั่นไหนทำอะไรตายตัว แต่มีการเปลี่ยนแปลงทุกอาทิตย์เพราะเราไม่รู้สถานการณ์ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร

สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี ทั้ง 3 บริษัทไม่ได้มีการพูดคุยว่าจะมีการ Synergy ร่วมกัน เพราะแต่ละบริษัทต่างมีการผลิตเม็ดพลาสติกแตกต่างกันไป และมีลูกค้ารองรับอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ในอนาคตจะเห็นความร่วมมือของ 3 บริษัทในการร่วมลงทุนทำโครงการในอนาคตแทนที่ต่างคนต่างทำ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาร่วมกันอยู่

ในช่วงที่ไทยมีมาตรการล็อกดาวน์พบว่า มีการใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use Plastic) เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชาชนหันมาใช้บริการดีลิเวอรี หรือการจัดส่งสินค้าและอาหารตามบ้าน มีการใช้พลาสติกมากเพราะเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ความปลอดภัยตามสุขอนามัย ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดจำนวนขยะพลาสติกมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของประเทศก็ยังคงนโยบายที่จะค่อยๆ ทยอยเลิกการผลิตพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งภายใน 4-5 ปีนี้ แต่หากความต้องการใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งเพิ่มสูงขึ้นอยู่ก็อาจจะปรับนโยบายได้ แต่ทั้งนี้ต้องมีการสร้างความตระหนักรู้ให้มีการนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเพื่อไม่มีปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก บริษัทจึงมีโครงการนำร่องผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่นิคมฯ เอเชีย จ.ระยอง มูลค่าการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4/2564 เป็นโครงการร่วมลงทุนกับบริษัท แอลพลา จำกัด (ALPLA) โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น PTTGC 70% ALPLA 30% ภายใต้บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด

นอกจากนี้ บริษัทฯ มีโครงการผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) รองรับเทรนด์โลก โดยเตรียมเร่งรัดตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในต้นปี 2564 แม้ว่าจะดีเลย์บ้างจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ด้วยเทรนด์การใช้พลาสติกชีวภาพในโลกมาแรง ทำให้ความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้นจนบริษัท NatureWorks ต้องมองหาโอกาสลงทุนโรงงานแห่งใหม่ จากเดิมมีโรงงานผลิต PLA ที่สหรัฐฯ อยู่แล้ว ซึ่ง PTTGCใ นฐานะผู้ถือหุ้นบริษัท NatureWorks ต้องการให้มาลงทุนตั้งโรงงานแห่งที่ 2 ในไทย เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ โดยมีการพัฒนาโครงการไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ที่ จ.นครสวรรค์ เพื่อรองรับโครงการดังกล่าวด้วย และตลาดพลาสติกชีวภาพในแถบเอเชียนับวันความต้องการใช้เพิ่มมากขึ้น

ไทยออยล์รีดไขมัน 20-25%

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกกระทบต่อธุรกิจการกลั่นรุนแรง แม้ว่าขณะนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น ราคาน้ำมันฟื้นตัวสูงสุดในรอบ 2 เดือนจากราคาที่ตกต่ำสุดในเดือนเมษายนนี้ โดยไตรมาส 2 นี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะขาดทุนสต๊อกน้ำมันหรือไม่

ดังนั้น ไทยออยล์ได้มีมาตรการรองรับการบริหารงานเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยลดค่าใช้จ่ายทั่วไปราว 20-25% จากปกติส่วนนี้มีประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี หรือลดราว 2,000-2,500 ล้านบาท รวมทั้งลดกำลังกลั่นในเดือนเมษายนลงบ้าง เพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการใช้พลังงาน จากไตรมาส 1/2563 ไทยออยล์มีกำลังกลั่นเฉลี่ย 111% จากกำลังกลั่นของไทยออยล์ 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งปรับลดการผลิตน้ำมัน JET ลงให้สอดรับความต้องการใช้แล้วหันไปผลิตน้ำมันมันดีเซลเพิ่มขึ้น แต่เชื่อว่าครึ่งหลังปี 2563 ธุรกิจการกลั่นจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ของหลายประเทศทำให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับงบลงทุนช่วง 5 ปีนี้ของไทยออยล์ รวมทั้งสิ้น 3,486 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) 3,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นโครงการขยายกำลังการกลั่นเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน และเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น คาดว่าจะแล้วเสร็จไตรมาส 1/2566 ส่วนงบลงทุนที่เหลือใช้ในโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการปรับปรุงหน่วยผลิตต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ (Efficiency), ต่อเนื่อง (Reliability) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility) ตลอดจนโครงการลงทุนทางด้านโลจิสติกส์และสาธารณูปโภค และการลงทุนอื่นๆ เช่น โครงการ Digital Transformation เป็นต้น

คาด Q2 ขาดทุนสต๊อกน้ำมันต่อ

ด้านบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ก็มีการปรับลดงบลงทุน (CAPEX) 5 ปีนี้ (2563-2567) ลงเหลือ 28,055 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ 53,953 ล้านบาท หรือลดลง 48% ราว 25,898 ล้านบาท โดยเลื่อนการลงทุนโครงการผลิตอะโรเมติกส์ (MARS) ออกไป รวมทั้งตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง โดยปีนี้งบลงทุนบริษัทฯ ได้ปรับลดลงจากเดิม 6,962 ล้านบาท เหลือเพียง 4,780 ล้านบาท ลดลง 31% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินงาน และรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19

แต่โครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ยังคงเดินหน้าต่อไป รวมทั้งเพิ่มการลงทุนโครงการ Strengthen IRPC เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2 พันล้านบาท เพื่อช่วยประสิทธิภาพสร้างรายได้และลดต้นทุน โดยตั้งเป้าในช่วง 4 ปีนี้จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อม (EBITDA) ประมาณ 4.6 พันล้านบาท ซึ่งในปีนี้จะมี EBITDA เข้ามา 1.9 พันล้านบาท เกิดจากการโครงการEVEREST Forever (E4E), โครงการ IRPC4.0 รวมทั้งโครงการ Breakthrough ที่เปิดโอกาสให้พนักงานได้เสนอโปรเจกต์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่องค์กร อาทิ โครงการลดสำรองน้ำมันดิบ ลง 4% และโครงการลดการกักตุนชิ้นส่วนอุปกรณ์เพื่อการซ่อมบำรุง โดยจะปรับลดลงประมาณ 1 พันล้านบาท ภายใน 3 ปีนี้

ส่วนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Floating Solar) ขนาดกำลังการผลิต 12.5 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 550 ล้านบาท เป็นการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในเขตประกอบการไออาร์พีซีช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และเป็นการใช้เม็ดพลาสติกจากบริษัทฯ เองในการผลิตทุ่นลอยน้ำ คาดว่าโครงการนี้จะผลิตไฟเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2/63 และโครงการขยายกำลังการผลิตผลิตเอบีเอส เพิ่มขึ้น 6 หมื่นตัน ใช้เงินลงทุน 430 ล้านบาท คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 3/63 พร้อมยอมรับว่าจะยังเห็นการขาดทุนสต๊อกน้ำมันในช่วงไตรมาส 2/63 อยู่บ้าง เนื่องจากบริษัทมีสต๊อกน้ำมันราคาสูงอยู่แม้ว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้นแล้วก็ตาม

ทั้งนี้ คงต้องจับตาว่าการ Synergy ของธุรกิจโรงกลั่นกลุ่ม ปตท.ที่เริ่มดำเนินการร่วมกันจะสะท้อนมายังผลประกอบการไตรมาส 2/2563 มากน้อยแค่ไหน หากผลลัพธ์ออกมาดีคงจะเห็นความร่วมมือในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะแค่การกลั่นกลุ่ม ปตท.


กำลังโหลดความคิดเห็น