xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าผู้โดยสารเพิ่มกว่า 3.5 หมื่นคน-กรมรางเข้มมาตรการลดเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมรางดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สอดคล้องกับมาตรการลดความเสี่ยงของสหภาพฯ รถไฟระหว่างประเทศ เผยผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนกว่า 35,000 คน

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทยที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบขนส่งทางรางได้อย่างสะดวกและมีความปลอดภัย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งยึดตามมาตรฐานด้านสาธารณสุขของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

โดยได้มีแผนปฏิบัติการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในระบบขนส่งทางราง ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมเห็นชอบเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 และออกประกาศกรมการขนส่งทางรางเพื่อให้หน่วยงานที่ให้บริการและผู้โดยสารปฏิบัติการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 6 ฉบับ

แบ่งเป็นเรื่อง ข้อแนะนำในการปฏิบัติเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับผู้โดยสารและหน่วยงานที่ให้บริการระบบขนส่งทางราง จำนวน 2 ฉบับ และเรื่อง มาตรการพึงปฏิบัติการจัดการระบบขนส่งทางรางภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จำนวน 4 ฉบับ

ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบขนส่งทางรางจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ใช้บริการภายในระบบขนส่งสาธารณะทางราง การให้มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิผู้โดยสารก่อนเข้าใช้บริการทุกครั้ง การรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distance) การจัดตั้งจุดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้ผู้โดยสารกรอกแบบคำถามสุขภาพ (แบบ ต.8 คค) กรณีใช้บริการรถไฟระหว่างจังหวัด กรณีใช้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใน กทม. ข้ามเขตพื้นที่จังหวัด การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการป้องกัน

สำหรับพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดทั้งบริเวณสถานีและภายในขบวนรถ การรณรงค์ให้ใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ส่วนตัว (ตั๋วเที่ยวรายเดือน/เติมเงิน) เพื่อลดการสัมผัสตั๋วเที่ยวรายวัน การจัดให้มีจุดจำหน่ายหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร และการประชาสัมพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา สหภาพรถไฟระหว่างประเทศ (International Union of Railways, UIC) ได้มีการตีพิมพ์วารสาร เรื่อง การบริหารจัดการกับ COVID-19 ด้วยมาตรการที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นในการเดินทางด้วยรถไฟจากกรณี COVID-19 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้มาตรการที่มีศักยภาพในการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการในระบบรางในสถานการณ์ของ COVID-19 ซึ่งถูกรวบรวมมาจากนานาชาติในสหภาพรถไฟระหว่างประเทศและคาดหวังว่าจะถูกนำไปใช้โดยผู้เกี่ยวข้องกับระบบราง โดยมีการแบ่งเป็นมาตรการระหว่างบุคคลต่อบุคคล ได้แก่ มาตรการระยะห่างทางสังคมในระยะห่าง 1 ถึง 2 เมตร การสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ ฆ่าเชื้อโรคและทำความสะอาด การตรวจวัดอุณหภูมิผู้คนในระบบราง และมาตรการระหว่างวัตถุกับบุคคล การทำความสะอาดสม่ำเสมอในระบบราง การใช้ตั๋วอิเล็กทรอนิกส์แทนตั๋วที่ต้องมีการสัมผัส การสื่อสารให้ผู้ใช้ระบบรางเข้าใจ เป็นต้น

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยว่า จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า และรถไฟทุกระบบ เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมามีจำนวนทั้งสิ้น 528,521 คน-เที่ยว เปรียบเทียบกับวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.เพิ่มขึ้นประมาณ 10000 คน-เที่ยว แต่หากเปรียบเทียบกับวันจันทร์ที่ 18 พ.ค. ที่มีผู้โดยสารรวมทุกระบบจำนวน 492,723 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นถึง 35,798 คน-เที่ยว

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางรางมีความตระหนักถึงความสะดวกในการเดินทางและความปลอดภัยของผู้โดยสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ต้น จึงมีการออกมาตรการให้สอดคล้องสถานการณ์อย่างรวดเร็วและรอบคอบ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ แม้บางมาตรการจำเป็นต้องอาศัยความเสียสละความสะดวกสบายและความร่วมมือจากผู้โดยสาร แต่อยู่บนพื้นฐานข้อแนะนำด้านสาธารณสุขไทยและมาตรฐานสากล และหวังเป็นอย่างยิ่งให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปโดยเร็ว










กำลังโหลดความคิดเห็น