ปตท.สผ.ยอมรับราคาน้ำมันดิ่ง ส่งผลให้บริษัท E&P มีปัญหาการเงิน เป็นโอกาสในการทำ M&A ย้ำหากมีดีลที่ดีและอยู่ในประเทศเป้าหมาย ปตท.สผ.ก็พร้อมทำ M&A ยันโครงการโมซัมบิกและโครงการซาราวัก SK410B เดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ ประเมินราคาน้ำมันปีนี้เฉลี่ย 36-37เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นางชนมาศ ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) เปิดเผยว่า จากภาวะราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงส่งผลให้มีโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ที่ขณะนี้เริ่มมีปัญหาด้านการเงิน แม้ว่าบริษัทจะมีนโยบายที่จะชะลอการทำ M&A ในช่วงปีนี้ แต่ถ้ามีดีลที่ดีและอยู่ในกลุ่มประเทศเป้าหมายการลงทุน คือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือไทย พม่า และมาเลเซีย รวมทั้งประเทศแถบตะวันออกกลาง คือโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บริษัทก็พร้อมที่จะลงทุนทำ M&A แต่ยอมรับว่าราคาน้ำมันที่ผันผวน โอกาสปิดดีล M&A ทำได้ยาก
ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมือที่แข็งแกร่งประมาณ 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพียงพอในการลงทุน รวมทั้งในช่วง 1-2 ปีนี้บริษัทไม่มีภาระการจ่ายคืนเงินกู้แต่อย่างใด
แนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2/63 บริษัทคาดว่าจะมีปริมาณการขายปิโตรเลียมอยู่ที่ 349,000 บาร์เรล/วัน และมีราคาขายก๊าซฯ อยู่ที่ 6.2 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู โดยประเมินไตรมาส 2 นี้เป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปีนี้ แต่บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบมากเนื่องจากสัดส่วนโครงสร้างรายได้มาจากก๊าซฯ คิดเป็น 70% ซึ่งจะสะท้อนราคาก๊าซฯ ตามราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงไตรมาส 4 นี้ กอปรกับความต้องการใช้น้ำมันเริ่มกลับเพิ่มขึ้นจากภาคขนส่ง
นางชนมาศกล่าวว่า ในปีนี้บริษัทได้ปรับลดปริมาณการขาย และปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในปีนี้เหลือเพียง 362,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 7% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ในช่วงต้นปี 63 ที่คาดจะทำได้ 390,000 บาร์เรล/วัน เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานในประเทศลดลง เพราะผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่ราคาขายก๊าซในปีนี้จะอยู่ที่ 5.9 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย 36-37 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่บริษัทมีต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ย 30-31 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
บริษัทยังได้ปรับลดเงินลงทุนในปีนี้ลง 10-15% จากเดิมที่คาดจะใช้เงิน 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยชะลอการลงทุนเจาะสำรวจในแหล่งปิโตรเลียมบางโครงการ ส่วนโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ยังเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ คาดว่าจะลงนามสัญญาเงินกู้ตามแผนที่วางไว้ในไตรมาส 2 นี้ และจะเริ่มผลิต LNG ได้ในปี 2567 แม้การแพร่ระบาดของโควิดอาจจะทำให้ล่าช้ากว่าแผนบ้างก็ตาม ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติลัง เลอบาห์-1RDR2 (Lang Lebah-1RDR2) ซึ่งเป็นหลุมสำรวจแรกของโครงการซาราวัก SK410B ที่ประเทศมาเลเซีย คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนครั้งสุดท้าย (FID) ในปลายปี 2564 และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2569