3 รายแรก “เชฟรอน -ปตท.สผ.-มิตซุยฯ” ประเดิมจ่ายรวม 42 ล้านบาทพร้อมเข้าห้อง Data Room เอราวัณ-บงกช หวังได้ข้อมูลเชิงลึกก่อนยื่นชิงประมูล 25 กันยายน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้เปิดให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) สำหรับการเข้าร่วมประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ-บงกช มายื่นแสดงเอกสารแสดงความจำนงในการเข้าถึงข้อมูล พร้อมชำระค่าเข้าร่วมประมูล และลงนามในสัญญาการรักษาความลับและการใช้ประโยชน์ข้อมูลในห้อง Data Room ระหว่างวันที่ 30 พ.ค.-1 มิ.ย. ซึ่งผู้ที่ประสงค์ต้องการข้อมูลเชิงลึกจะต้องจ่ายเงิน 7 ล้านบาทต่อแหล่งต่อราย โดยใครจ่ายก่อนจะได้เข้าห้อง Data Room ก่อน เพื่อศึกษาข้อมูลก่อนยื่นประมูลในวันที่ 25 กันยายนนี้ ปรากฏว่าล่าสุดมีผู้มายื่น 3 ราย รวมเป็นเงินที่ต้องจ่ายรัฐ 42 ล้านบาท
ทั้งนี้ 3 รายประกอบด้วย 1. บริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. 2. บ.มิตซุย ออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด ซึ่งมาในฐานะพาร์ตเนอร์ของบริษัท Chevron Thailand Holdings Ltd. และ 3. บริษัท PTTEP Energy Development Company Limited ซึ่งทั้ง 3 รายนี้ยื่นขอดูข้อมูลทั้ง 2 แหล่ง แต่ยังไม่ระบุชัดเจนว่าจะยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่งหรือไม่ โดย ปตท.สผ.ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับเชฟรอนว่าจะร่วมกันประมูลในแหล่งเอราวัณด้วยกันหรือไม่ หากเจรจาไม่ลงตัว ในส่วนของ ปตท.สผ.และเชฟรอนก็จะยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่ง
นายมิโนรุ (ไมค์) ฟูกูดะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซโปลเรชั่น คัมปะนี ลิมิเต็ด สาขากรุงเทพฯ กล่าวว่า บริษัทร่วมทุนในแหล่งเอราวัณและลงทุนในไทยมา 45 ปี และจะร่วมกับเชฟรอนในการประมูลครั้งนี้ ซึ่งมั่นใจทั้งประสบการณ์และฐานะการเงินจะได้เปรียบในการประมูลแน่นอน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบจากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) นั้น นับเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้น และจะมีผลทำให้ผลตอบแทนของบริษัทอาจลดลงบ้าง ขณะเดียวกัน บริษัทยังพร้อมที่จะประมูลแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ที่กระทรวงพลังงานจะเปิดให้ยื่นแข่งขันอีกด้วย
สำหรับแหล่งปิโตรเลียม บูรพา จ.สุโขทัย คาดว่าจะเริ่มกลับมาผลิตน้ำมันดิบประมาณ 500 บาร์เรลต่อวันในเดือนสิงหาคม 2561 หลังจากมีปัญหาด้านเทคนิคและหยุดผลิตไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2560 โดยยืนยันว่าแม้จะหยุดผลิตแต่การว่าจ้างพนักงานยังคงเหมือนเดิม และบริษัทก็ไม่ได้หยุดเพราะเรื่องราคาน้ำมันตกต่ำแต่อย่างใด เพียงแต่แหล่งบูรพานั้นเป็นแหล่งบนบกที่มีความลึกค่อนข้างสูงถึง 3 กิโลเมตร จึงมีปัญหาด้านเทคนิคในการผลิต