xs
xsm
sm
md
lg

รัฐมั่นใจประมูลเอราวัณ-บงกชได้ตามแผน จ่อเปิดสำรวจรอบใหม่ปี 62

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมั่นใจแผนการเปิดประมูลเอราวัณ-บงกชจะเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่กำหนดไว้ ล่าสุดคัดผู้ผ่านคุณสมบัติได้แล้ว 5 ราย เล็งเปิดให้เอกชนยื่นสำรวจผลิตฯ รอบใหม่คิวต่อไปภายในปี 2562 หวังเร่งให้เกิดการผลิตในประเทศมากขึ้นหลังแหล่งผลิตใหม่ไม่มีมานับ 10 ปี

นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การเปิดประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ (แปลง G1/61)-บงกช (แปลง G2/61) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานปี 2565-66 ในระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) มั่นใจว่าขั้นตอนจะเป็นไปตามแผนที่วางไว้ที่จะได้ผู้ชนะประมูลทั้ง 2 แหล่งภายในเดือนธันวาคม 61 และลงนามเซ็นสัญญากับผู้ชนะประมูลได้ในเดือน ก.พ. 62 จากนั้นรัฐเตรียมที่จะเปิดให้เอกชนยื่นสิทธิและสำรวจผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาได้หยุดสำรวจฯ มาตั้งแต่ปี 2550 ทั้งนี้เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ

“ตั้งแต่การเปิดสัมปทานรอบที่ 20 เราก็หยุดมาตลอดนับ 10 ปีที่ไม่ได้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมเลย ทำให้กิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยใหม่ๆ แทบไม่มีเกิดขึ้น ดังนั้น การเปิดรอบใหม่ก็คงจะเป็นปีหน้าเพื่อให้เกิดการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนจะใช้ระบบ PSC สัมปทาน หรือสัญญาจ้างบริการ (SC) ก็ขึ้นอยู่กับแหล่งที่จะเปิด ซึ่งหากเป็นบนบกก็เข้าข่ายระบบสัมปทาน เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นแหล่งบนบก” นายวีระศักดิ์กล่าว

สำหรับขั้นตอนการเปิดประมูลเอราวัณและบงกช ล่าสุดมีผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น (PQ) และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตฯ ในแหล่งเอราวัณ 5 บริษัท ได้แก่ 1. เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด 2. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. 3. MP G2 (ประเทศไทย) 4. Total E&P Thailand 5. OMV Aktiengesellschaft แหล่งบงกช 4 บริษัท ได้แก่ เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้ง จำกัด 2. บมจ.ปตท.สผ. 3. MP L21 (Thailand) Ltd และ 4. OMV Aktiengesellschaft

“หลังจากนี้กรมเชื้อเพลิงฯ จะเปิดให้ผู้ร่วมประมูลต้องยื่นเอกสารแสดงความจำนงพร้อมชำระเงิน 7 ล้านบาทต่อแหล่ง ระหว่าง 30 พ.ค.-1 มิ.ย. 61 เพื่อแสดงความต้องการใช้ห้องศึกษาข้อมูล (Data Room) จากนั้น 7 มิ.ย.-21 ก.ย.จะเปิดให้เข้าห้อง Data Room เพื่อดูข้อมูลเชิงลึกได้จริง โดยจะเปิดให้สิทธิ์แค่ 2 วันแรก จากนั้นหากจะดูเพิ่มต้องจ่ายวันละ 7 หมื่นบาท การเข้าดูจะต้องไม่เกิน 5 คน เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามมาตรฐานสากล จากนั้นวันที่ 25 ก.ย.จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการยื่นสิทธิข้อเสนอด้านเทคนิคและผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ ซึ่งในวันนี้ก็จะทราบได้ว่าใครจับมือกันเป็นพันธมิตร” นายวีระศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้ กรมฯ มั่นใจว่าการยื่นประมูลจริงจะมีอย่างน้อยแหล่งละ 2 กลุ่มพันธมิตร และเงื่อนไขการให้คะแนนในการพิจารณาผู้ที่จะชนะประมูลจะให้น้ำหนักที่การเสนอราคาก๊าซฯ ที่ต่ำ โดยให้น้ำหนักคะแนน 65% ส่วนกำไรที่จะเสนอให้รัฐที่กำหนดไว้ต้องไม่น้อยกว่า 50% ให้น้ำหนักคะแนน 25% การเสนอผลประโยชน์พิเศษต่างๆ เช่น โบนัสการลงนาม โบนัสการผลิต และผลประโยชน์พิเศษอื่นๆ ให้น้ำหนักคะแนน 5% และการจ้างงานคนไทยกำหนดในปีแรกต้องไม่ต่ำกว่า 80% จากนั้นภายใน 5 ปีต้องจ้าง 90% ของพนักงานรวม โดยส่วนนี้จะให้คะแนน 5%

“ยอมรับว่าถ้าได้รายเดิมการผลิตก๊าซฯ ให้ต่อเนื่องทันทีก็จะง่ายกว่า แต่หากได้รายใหม่กรมฯ เองก็เตรียมแผนที่จะทำให้ไม่สะดุด ซึ่งก็มั่นใจว่าเวลาที่เหลือก่อนหมดสัมปทานปี 2565-66 มีเวลาพอที่จะเร่งดำเนินการ” นายวีระศักดิ์กล่าว

นายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะประกาศผลผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นทางเว็บไซต์กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และจะแจ้งผลการพิจารณาไปยังทุกบริษัทที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นต่อไป และในวันที่ 4 มิ.ย.นี้จะมีการจัดสัมมนา (Leader Conference) รับฟังข้อมูลให้แก่ผู้สนใจยื่นประมูลหากมีข้อสงสัยจะได้ให้เกิดความชัดเจน

ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 24 พ.ค. แหล่งเอราวัณมีแท่นผลิต 49 แท่น มีหลุมผลิตรวม 664 หลุม แต่ผลิตจริง 121 หลุม ส่วนแหล่งบงกชมี 44 แท่น 876 หลุม ผลิตจริง 143 หลุม ขณะที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว (P1) ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7.7 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คาดว่าจะใช้ได้อีกประมาณ 5-6 ปี จากระดับการใช้ก๊าซฯ เฉลี่ยขณะนี้อยู่ที่ 1.1-1.2 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อปี


กำลังโหลดความคิดเห็น