สถาบันอาหารเผยโควิด-19 แนะแปรรูปอาหารไทยตอบโจทย์ตลาดให้ทันหลังอุตสาหกรรมอาหารเอเชียเริ่มเปลี่ยน ผู้บริโภคนิยมอาหารมีนวัตกรรมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย อาหารพร้อมรับประทาน อาหารที่มีอายุเก็บรักษานาน เติบโตสูง ชอบนำอาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น และนิยมซื้อทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็น New Normal
นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร (Food Intelligence Center) สถาบันอาหาร ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารในเอเชียช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้บริโภคมีความต้องการอาหารที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง เช่น ผู้บริโภคเวียดนามนิยมรับประทานกระเทียมดำเพื่อช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย ฟิลิปปินส์นิยมรับประทานผลิตภัณฑ์จากมะรุมและน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์มากขึ้น ส่วนสิงคโปร์มีความต้องการวิตามินซีและวิตามินรวมมากขึ้น 3-5 เท่า ซึ่งจะเป็นโอกาสของแบรนด์ต่างๆ ในการสร้างสินค้านวัตกรรมที่จะช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของโรคในอนาคต
“โควิด-19 ยังทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป เช่น ญี่ปุ่นอาหารที่มีอายุเก็บรักษานานมียอดขายเติบโตมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม ส่วนเกาหลีใต้ บริษัท CJ CheilJedang บริษัทชั้นนำเกาหลีใต้ด้านอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เผยแพร่ผลงานวิจัย “2020 HMR Trend” หลังเกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ว่าชาวเกาหลีใต้เน้นการประหยัดระยะเวลาในการเตรียมอาหาร โดยรับประทานอาหารที่บ้านมากขึ้น 83% และสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น เป็นต้น” นางอนงค์กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทวิจัย Nielsen สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภค 11 ประเทศในเอเชียหลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้บริโภค 86% ในจีนจะรับประทานอาหารที่บ้าน รองลงมาคือ ฮ่องกง 77% และมาเลเซีย เวียดนาม เกาหลีใต้ 62% โดยพบว่ามูลค่าค้าปลีกอาหารในเอเชียมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 20-25% ต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา
ทั้งนี้ ตลาดอาหารในเอเชียมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นตลาดที่บ่มเพาะสินค้านวัตกรรมมากขึ้น วิถีชีวิตผู้บริโภคที่กลายเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery) เติบโตขึ้น สถานการณ์โควิด-19 กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมให้เกิดการซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านและเกิดกิจกรรมการปรุงอาหารรับประทานเองมากขึ้น เช่น ในญี่ปุ่น และไทย พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นเรื่องปกติของวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ (New Normal) โดยเป็นการสั่งซื้อผ่านออนไลน์มากขึ้นด้วย ดังนั้น ผู้ผลิตอาหารจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะเปลี่ยนไป โดยเฉพาะช่องทางการจำหน่ายแบบออนไลน์เพื่อสร้างโอกาสทางการตลาด
“สถาบันฯ ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มกลุ่มเอสเอ็มอีระยะสั้นด้วยการมอบสิทธิประโยชน์เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เช่น ส่วนลดในการใช้บริการศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ และยังสนับสนุนผู้ประกอบการในเกือบทุกภาคทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการต่างๆ” นางอนงค์กล่าว