xs
xsm
sm
md
lg

โรงงานเร่งงัดแผนช่วยชาวไร่เพิ่มผลผลิตอ้อยรับวิกฤตแล้งสุดรอบ 40 ปี-ราคาโลกต่ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเร่งบริหารประสิทธิภาพการผลิตเพื่อรับปัจจัยลบ 2 เด้ง ราคาโลกต่ำ แล้งรุนแรงสุดรอบ 40 ปี เดินหน้าเร่งส่งเสริมการเพาะปลูกชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเต็มที่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอต่อการเพาะปลูก หวั่นส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยเข้าหีบฤดูการผลิตปี 63/64 ลดลง การันตีมีน้ำตาลบริโภคเพียงพออย่างแน่นอน

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC)
เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงงานได้วางแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับ 2 ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำตาลตลาดโลกตกต่ำ และภัยแล้งสุดรอบ 40 ปีที่จะกระทบต่อผลผลิตอ้อยและน้ำตาลทรายในฤดูหีบปี 2563/64 ที่อาจลดลงจากฤดูหีบปี 2562/63 ที่มีอ้อยเข้าหีบ 74.89 ล้านตัน และน้ำตาล 8.27 ล้านตัน โดยเร่งรัดส่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไร่เข้าไปช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกและสนับสนุนจัดหาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอเพื่อลดความเสียหายจากภัยแล้งที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด และเตรียมความพร้อมด้านเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานในการหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยในรอบการผลิตใหม่ให้ได้สูงสุดเพื่อให้ชาวไร่มีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

“โรงงานน้ำตาลกังวลต่อสถานการณ์เพาะปลูกอ้อยปีนี้ที่ต้องเจอภัยแล้งรุนแรงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อต่อสู้กับปัจจัยลบในครั้งนี้ โดยให้ความช่วยเหลือชาวไร่คู่สัญญาในทุกด้าน เช่น การจัดหาแหล่งน้ำให้แก่ชาวไร่ โดยหวังว่าจะช่วยบรรเทาปัญหาให้ได้มากที่สุด” นายสิริวุทธิ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ปัญหาภัยแล้งส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตน้ำตาลมีแนวโน้มลดลงไป แต่โรงงานน้ำตาลก็มีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องมือเครื่องจักรตัดอ้อยสำหรับให้บริการชาวไร่อ้อยคู่สัญญา รวมทั้งวางมาตรการส่งเสริมการตัดอ้อยสดและสะอาดส่งเข้าหีบ ซึ่งจะช่วยให้การหีบสกัดน้ำตาลต่อตันอ้อยให้ได้มากที่สุด และเกิดประโยชน์แก่ชาวไร่ที่จะมีรายได้จากการเพาะปลูกอ้อยสูงขึ้น

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาน้ำตาลในตลาด ณ ปัจจุบันได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบ COVID-19 ที่ฉุดอัตราการบริโภคน้ำตาลของโลกลดลง ประกอบกับภาวะราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงจากการแข่งขันของผู้ค้าและส่งออกน้ำมัน ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกรายใหญ่อย่างประเทศบราซิลชะลอการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงภายในประเทศ แล้วหันมาผลิตน้ำตาลทรายเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นทำให้มีอุปทานน้ำตาลในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 9-10 เซ็นต์ต่อปอนด์

“แม้ว่าปริมาณผลผลิตน้ำตาลในฤดูการผลิตปี 2562/63 ต่ำกว่าปีที่แล้ว และผลผลิตในฤดูการผลิตปี 2563/64 จะมีปริมาณลดลง แต่จะไม่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนภายในประเทศอย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งโรงงาน ชาวไร่อ้อย และภาครัฐ ได้ร่วมมือกันเพื่อบริหารจัดการน้ำตาลภายในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศ รวมถึงมีส่วนเหลือที่สามารถส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเพื่อรักษาสถานะประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก” นายสิริวุทธิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น