โรงงานน้ำตาล เผยมาตรการแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้รอบการหีบ 62/63 เริ่มเห็นผล หลังเร่งให้บริการรถตัดอ้อยแก่ชาวไร่คู่สัญญา พร้อมรับซื้อกาบใบอ้อยสดนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งผลหีบอ้อยผ่าน 75 วัน มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบ 33.43 ล้านตัน หรือมีสัดส่วนคิดเป็น 50% เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะเดียวกันเดินหน้าส่งเสริมชาวไร่ปรับพื้นที่-รวมแปลงเพาะปลูก รับการใช้รถตัดจัดเก็บผลผลิต หวังช่วยแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ในระยะยาว
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด (TSMC) เปิดเผยว่าโรงงานน้ำตาลผนึกทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานราชการระดับท้องถิ่นและชาวไร่อ้อย เพื่อร่วมแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้อย่างจริงจัง โดยฝ่ายราชการทำหน้าที่กำกับ ดูแลการดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาให้บรรลุผล ขณะที่ฝ่ายโรงงานเข้าสนับสนุนรถตัดอ้อยให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาเพื่อจัดเก็บอ้อยสด โดยหลายโรงงานรับซื้อกาบใบอ้อยสดค้างไร่ในราคาสูงไปใช้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ควบคู่มาตรการลงโทษหักเงินอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท นำไปจ่ายเพิ่มให้แก่ชาวไร่ที่ส่งอ้อยสด ช่วยให้เกิดการตื่นตัวชาวไร่ให้ความร่วมมือแก้ปัญหา
ทั้งนี้ จากการดำเนินมาตรการอย่างจริงจัง พบว่า ภาพรวมผลผลิตอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2562/63 เริ่มมีสัญญาณอ้อยสดเข้าหีบเพิ่มขั้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังเปิดรับผลผลิตแล้ว 75 วัน พบว่า มีปริมาณอ้อยสดเข้าหีบรวม 33.43 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 50% จากปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เมื่อเทียบกับระยะเวลาหีบอ้อยที่เท่ากันของปีที่ผ่านมา และมีอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 33.29 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 50% ลดลงจากปีก่อนที่มีสัดส่วนอ้อยไฟไหม้สูงถึง 57%
อย่างไรก็ตาม ทุกภาคส่วนยังต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอ้อยไฟไหม้ในระยะยาวต่อไป โดยโรงงานเข้าส่งเสริมให้ชาวไร่ปรับพื้นที่รวมแปลงเพาะปลูกให้เป็นขนาดใหญ่รองรับการใช้รถตัดอ้อยจัดเก็บผลผลิต รวมถึงบริหารจัดการรถตัดให้มีประสิทธิภาพจัดเก็บสูงสุด เนื่องจากปัจจุบันรถตัดอ้อยในไทยเพียง 1,800 คัน รองรับการตัดอ้อยได้ 30 ล้านตันต่อปี ซึ่งไม่มีเพียงพอต่อพื้นที่เพาะปลูกและปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปี แม้ที่ผ่านมา ภาครัฐสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ชาวไร่ปีละ 2,000 ล้านบาท โดยให้โรงงานเป็นผู้ค้ำประกันแล้วก็ตาม
“ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่ทำงานร่วมกันอย่างจริงจังเพื่อแก้อ้อยไฟไหม้ ทำให้บรรเทาปัญหาไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ในระยะยาวแล้วยังต้องอาศัยความร่วมมือแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ ทั้งการจูงใจชาวไร่รวมแปลงเพาะปลูกขนาดเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ ซึ่งจุดเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ช่วยลดต้นทุนและจัดเก็บผลผลิตด้วยรถตัดอ้อยได้ ซึ่งขณะนี้โรงงานได้ไปจูงใจชาวไร่ให้มีการรวมแปลงพื้นที่เพาะปลูกแล้ว” นายสิริวุทธิ์ กล่าว