xs
xsm
sm
md
lg

ชาวไร่อ้อย-โรงงานจ่อถก “กอน.” ชุดใหม่ดันขึ้นราคาน้ำตาลทราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวไร่อ้อย-โรงงานลุ้น ครม.เคาะตั้งบอร์ด “กอน.” ชุดใหม่หลังครบวาระเร็วๆ นี้เพื่อเตรียมเสนอแนวทางทบทวนโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศใหม่ หลังต้นทุนภาพรวมขยับสูงแย้มจ่อขยับ 0.50-1 บาทต่อ กก. เหตุภัยแล้งกดผลผลิตต่อไร่ตกต่ำหนัก คาดปิดหีบ มี.ค.นี้เหลืออ้อยแค่ 79 ล้านตัน หายไป 52 ล้านตัน ฤดูหน้าส่อวิกฤตหนัก วงใน ก.อุตฯ รับขึ้นราคาต้องให้ กอน.เคาะและต้องคำนึงหลายปัจจัยซึ่งรวมถึงภาวะเศรษฐกิจ

นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย และสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 เปิดเผยว่า ขณะนี้ชาวไร่อ้อยอยู่ระหว่างการเตรียมหารือกับคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ชุดใหม่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเร็วๆ นี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายอยู่รอดได้ท่ามกลางปัญหาผลผลิตอ้อยตกต่ำจากภัยแล้งด้วยการเสนอทบทวนโครงสร้างราคาน้ำตาลทรายภายในประเทศให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงตามสูตรราคาแบบ Cost Plus ซึ่งมีแนวโน้มจะปรับขึ้น

“ก่อนหน้านี้รัฐได้กำหนดสูตรลอยตัวราคาน้ำตาลทรายเพื่อสะท้อนกลไกตลาดโลกเป็นสำคัญภายใต้คำสั่งม.44 แต่ต่อมาเมื่อ ต.ค. 62 มีการกำหนดสูตรใหม่ที่อิงต้นทุนทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานตามสูตร Cost Plus ซึ่งขณะนั้นสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ได้ประกาศราคาจำหน่ายน้ำตาลทรายฤดูผลิตปี 62/63 หน้าโรงงานไว้ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม คือน้ำตาลทรายขาวราคากิโลกรัม (กก.) ละ 17.25 บาท น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ 18.25 บาท เพื่อคำนวณเป็นรายได้ของชาวไร่ แต่วันนี้ต้องทบทวนเพราะต้นทุนได้เปลี่ยนไปมาก” นายนราธิปกล่าว

ทั้งนี้ ก่อนหน้า กอน.ได้เห็นชอบกำหนดต้นทุนชาวไร่อ้อยไว้ที่ 1,110 บาทต่อตัน โดยคำนวณจากผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยไว้ที่ 10.5 ตันต่อไร่ แต่จากปัญหาภัยแล้งการเปิดหีบฤดูผลิตปี 62/63 ที่เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค. 62 จนถึงขณะนี้มีสัญญาณผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยเหลือเพียง 6 ตันต่อไร่ ขณะที่ผลผลิตอ้อยฤดูหีบล่าสุดคาดว่าจะมีการปิดหีบได้ภายในไม่เกินกลางเดือน มี.ค.นี้เพราะอ้อยเหลือปริมาณไม่มากและมีการประเมินว่าผลผลิตจะเหลือเพียงประมาณ 79 ล้านตันอ้อย ขณะที่ฤดูหีบที่แล้วมีผลผลิตอ้อยสูงถึง 130.90 ล้านตัน

เหตุผลดังกล่าวทำให้ต้นทุนทั้งฝ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น และยังรวมถึงค่าขนส่ง จึงเป็นที่มาในการนำเสนอให้มีการทบทวนโครงสร้างราคาเพื่อให้สะท้อนต้นทุนการผลิต หากไม่เช่นนั้นอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายคงจะวิกฤตหนักเพราะสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงกำลังทำให้อ้อยตอเริ่มตายมากขึ้นและพันธุ์อ้อยดีๆ ก็หายาก ภาพรวมฤดูผลิตปี 63/64 อาจวิกฤตหนักในแง่ผลผลิต

แหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ขณะนี้การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ที่จะมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานโดยตำแหน่งเนื่องจากชุดเดิมครบวาระนั้นได้มีการเวียนหนังสือให้รัฐมนตรีกำกับดูแล 3 กระทรวง ได้แก่ อุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตรฯ เซ็นลงนาม จากนั้นจะนำเสนอ ครม.อนุมัติที่คาดว่าจะเข้า ครม.ได้ในสัปดาห์นี้เป็นอย่างเร็วภายหลังจากที่ล่าสุด ครม.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (บอร์ดกองทุนฯ) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าชาวไร่อ้อยและโรงงานมีการเตรียมข้อมูลเพื่อให้ทบทวนต้นทุนการผลิตในการนำไปสู่การปรับขึ้นราคาน้ำตาลทรายที่เบื้องต้นทราบว่าอยู่ระหว่าง 0.50-1 บาทต่อ กก.

“ยอมรับว่าการลอยตัวราคาน้ำตาลก่อนหน้านั้นเพราะรัฐต้องการแก้ไขปัญหากรณีบราซิลฟ้องร้องไทยต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ที่มองไทยว่าอุดหนุนราคาน้ำตาล ประกอบกับราคาตลาดโลกลดลงทำให้ราคาขายปลีกของไทยลดลง แต่ด้วยราคาโลกที่ตกต่ำต่อเนื่องนำมาซึ่งปัญหาราคาอ้อยตกต่ำจึงมีการปรับสูตรคำนวณใหม่แบบ Cost Plus เพื่อให้ระบบอยู่ได้ แม้ว่าน้ำตาลจะไม่ใช่สินค้าควบคุมแล้วแต่พาณิชย์ก็มีราคาขั้นสูงสุดที่จะไม่ให้เกิน 23 บาทต่อ กก. ซึ่งขณะนี้เฉลี่ยราคาขายปลีกของไทยอยู่ประมาณ 21-22 บาทต่อ กก.เฉลี่ยหากจะขึ้นก็คงได้ไม่เกิน 1 บาทต่อ กก. และการปรับขึ้นนั้นก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจไทยด้วยซึ่งทั้งหมดคงต้องมาหารือกัน” แหล่งข่าวกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น