ไทยออยล์แจงไตรมาส 1/63 ขาดทุนสุทธิ 1.37 หมื่นล้านบาทเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มั่นใจธุรกิจการกลั่นในไตรมาส 2 เริ่มดีขึ้นหลังราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพดีขึ้นจากโควิด-19 บรรเทาลง
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (TOP) เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/2563 บริษัทขาดทุนสุทธิ 13,754.49 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 4,408.31 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายลดลง 14,974 ล้านบาท สาเหตุจากราคาขายผลิตภัณฑ์และปริมาณการขายปรับลดลงและมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 3.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สาเหตุหลักมาจากค่าการกลั่นที่ถูกกดดันอย่างหนักจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับน้ำมันดิบดูไบที่อ่อนตัวลงจากผลกระทบการระบาดโควิด-19
นอกจากนี้ กำไรขั้นต้นจากกลุ่มอะโรเมติกส์ลดลงจากภาวะอุปทานล้นตลาดที่เกิดจากการเปิดดำเนินการของโรงอะโรเมติกส์ในประเทศจีน เมื่อรวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันทำให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันลดลง 18.0 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทำให้กลุ่มบริษัทมี EBITDA ลดลง19,137ล้านบาท และรวมขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายภาษี ทำให้ไตรมาส 1 นี้ขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท
“ในไตรมาส 1 ปี 2563 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มรวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน (Accounting GIM) อยู่ที่ติดลบ 10.10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และโดยปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มอยู่ที่ 309,000 บาร์เรล/วัน ทำให้กลุ่มไทยออยล์มีรายได้จากการขายและขาดทุนจาก EBITDA จำนวน 76,652 ล้านบาท และ 12,248 ล้านบาทตามลำดับ เมื่อหักค่าใช้จ่ายดำเนินงาน ต้นทุนทางการเงินและอื่นๆ ทำให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 13,754 ล้านบาท ซึ่งรวมผลกระทบจากการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันก่อนภาษี 10,772 ล้านบาท และรายการปรับลดมูลค่า สินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปก่อนภาษี 3,480 ล้านบาท”
ส่วนแนวตลาดน้ำมันดิบในช่วงไตรมาส 2 นี้คาดว่าจะถูกกดดันเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/63 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ขยายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากจีน ทำให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปรับลดลง แต่กลุ่มประเทศโอเปกและพันธมิตรสามารถตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมราว 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ทำให้ตลาดน้ำมันมีเสถียรถาพมากขึ้น ทำให้ธุรกิจการกลั่นในไตรมาส 2 นี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น
ส่วนแนวโน้มน้ำมันดิบในครึ่งหลังปี 2563 คาดว่าจะปรับตัวขึ้นเมื่อเทียบจากครึ่งปีแรก หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการกลั่นปรับตัวดีขึ้นกว่าครึ่งแรกปี 2563 จากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้นหลังโควิด-19 บรรเทาลง