ครม.เห็นชอบ พ.ร.ฎ.เวนคืน รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ รฟม.เตรียมสำรวจปักหมุดแนวเวนคืน ตั้งเป้าก่อสร้างปี 64
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะดำเนินการเพื่อกิจการขนส่งมวลชนในท้องที่เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพระนคร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตธนบุรี เขตคลองสาน เขตจอมทอง เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) รวม 2 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ขั้นตอนต่อไป การรรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะว่าจ้างเพื่อทำการสำรวจพื้นที่ต่อไป และให้ดำเนินการต่อไปได้ ซึ่งจะเวนคืนที่ดินประมาณ 410 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้าง 267 หลังคาเรือน และเวนคืนเพื่อเป็นจุดขึ้น-ลง 17 สถานี พื้นที่ก่อสร้างที่จอดรถไฟฟ้า (เดโป้) 50 ไร่ โดยค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินสำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ กำหนดกรอบวงเงินไว้ประมาณ 15,913 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดำเนินงานนั้น สำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้ รฟม.ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินเมื่อร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ฉบับ ได้ใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. (โครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 12.6 กม. และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 11 กม.) วงเงินลงทุน 124,791 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 15,913 ล้านบาท ค่าสำรวจอสังหาริมทรัพย์ 32 ล้านบาท ค่างานโยธา 77,385 ล้านบาท ค่าก่อสร้างสิ่งทดแทนหน่วยงานที่ได้รับผลกระทบ 1,335 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานก่อสร้าง 2,865 ล้านบาท ค่าเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sum) ของงานโยธา 3,582 ล้านบาท ค่างานระบบและตัวรถไฟฟ้า 23,064 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานระบบ 615 ล้านบาท
งานโยธา วงเงิน 77,385 ล้านบาท จะแบ่งประมูลเป็น 6 สัญญา ประกอบด้วย งานใต้ดิน 4 สัญญา งาน ทางยกระดับ 1 สัญญา และงานระบบราง 1 สัญญา อยู่ระหว่างรอการอนุมัติให้ใช้พื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งคาดว่าจะเปิดประมูลได้ในปี 2563 และเริ่มก่อสร้างในปี 2564 และเปิดบริการในปี 2569
ส่วนการเดินรถสายสีม่วงใต้ ซึ่งงานระบบและตัวรถไฟฟ้ามีมูลค่า 23,064 ล้านบาทนั้น ก่อนหน้านี้คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ให้ศึกษาเพิ่มเติมรูปแบบการให้สัมปทานเอกชนร่วมทุน หรือ PPP Net Cost ตลอดสาย ตั้งแต่ราษฎร์บูรณะ-เตาปูน-คลองบางไผ่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของภาครัฐ เปรียบเทียบกับรูปแบบที่ รฟม.ศึกษาไว้ คือการจ้างวิ่ง PPP Gross Cost เหมือนสายสีม่วงเหนือ ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ โดยรฟม.อยู่ระหว่างสรุปข้อมูล เพื่อเสนอบอร์ด รฟม.พิจารณา