xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ใช้ดิจิทัลปักหมุดที่ดิน2แสนไร่ ก่อนรื้อใหญ่บริหารทรัพย์สิน-สัญญาเช่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-บอร์ด รฟท. เดินหน้าฟื้นฟูกิจการ อนุมัติจ้างที่ปรึกษาสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศกว่า 2 แสนไร่ ยกเครื่องฐานข้อมูลใส่ลงระบบดิจิทัล ก่อนลุยจัดระเบียบบริหารทรัพย์สิน สัญญาเช่าใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้ เผยยังได้อนุมัติให้เดินหน้าประมูลบริหารพื้นที่สถานีรถไฟสายสีแดง 13 สถานีตลอดสาย

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ รฟท. เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษา จัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบแผนที่ (GIS) และระบบสารสนเทศ (MIS) เพื่อสำรวจ รังวัดแนวเขตที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศ เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีระเวลาดำเนินการ 720 วัน กรอบงบประมาณ 320 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ที่ดินรถไฟทั่วประเทศกว่า 2 แสนไร่ มีทั้งที่ดินจาก พ.ร.ฏ.เวนคืนที่ดินแนวเขตทาง และที่ดินที่มีสัญญาเช่ากับเอกชน โดยเป็นที่ดินมีโฉนดประมาณ 2% มีแผนที่ ซึ่งเมื่อนำมาใช้อาจยังมีปัญหาไม่ชัดเจน ซึ่งการปักหมุดแนวเขต ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น จะทำให้ รฟท. สามารถนำข้อมูลมาบริหารจัดการได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ลดปัญหาความขัดแย้งกับเอกชน โดยเฉพาะที่เป็นสัญญาเช่า

สำหรับการทำฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ดินของ รฟท. ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการสำรวจแผนที่ภูมิศาสตร์โดยละเอียด เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ เนื่องจากการบริหารทรัพย์สินที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ รฟท. ขณะที่ข้อมูลด้านที่ดินรถไฟที่มีในปัจจุบันยังเป็นระบบเอกสาร การทำฐานข้อมูลใหม่ เพื่อให้เป็นระบบดิจิทัล จะทำให้ใช้งานได้สะดวก

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูล รฟท. ที่ดิน 234,976 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ คิดเป็น 80.68% ของที่ดินรวม , พื้นที่บ้านพัก ที่ทำการ 3,755 ไร่ คิดเป็น 1.6% , พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) 5,333 ไร่ คิดเป็น 2.27% และพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ คิดเป็น 15.45% โดยมีพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศ ประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่

นายวรวุฒิกล่าวว่า บอร์ด รฟท. ยังได้พิจารณาแนวทางการบริหารพื้นที่สถานีโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้เสนอโมเดลประมูลหาเอกชนบริหารสถานีกลางบางซื่อ แต่บอร์ด ให้ รฟท. ศึกษาโมเดลการให้เอกชนรายเดียวบริหารพื้นที่สายสีแดง ทั้ง 13 สถานีช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ซึ่งล่าสุดได้เสนอ 2 รูปแบบ คือ งานที่เป็นรายจ่าย เช่น งานด้านทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย และงานที่มีรายได้ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ ป้ายโฆษณา ที่จอดรถ โดยบอร์ดรับทราบ 2 ทางเลือกแล้ว โดยให้ รฟท. พิจารณา และก่อนประมูลให้ทำรายละเอียดเสนอบอร์ดอีกครั้ง

“แนวทางชัดเจนขึ้นว่ารวมพื้นที่ทั้ง 13 สถานี แต่จะรวมงานที่เป็นค่าใช้จ่าย และงานที่สร้างรายได้อย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่าย พอประเมินได้ แต่รายได้ ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเท่าไร เพราะรถไฟไม่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารพื้นที่ ซึ่งหากเอกชนรับภาระงานที่เป็นค่าใช้จ่ายไปด้วย จะทำให้สามารถวางแผน คิดหาวิธีในการหารายได้ เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายได้ เช่น ควรจะคิดค่าบริการจาก User จาก Operator หรือไม่ กรณีค่าเช่าควรเก็บอัตราเท่าไรต่อตารางเมตร เป็นต้น โดยอย่างน้อยอายุสัญญาต้อง 10 ปี วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท”นายวรวุฒิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น