xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เร่งสำรวจปักหมุดแนวที่ดิน 2 แสนไร่-ยกเครื่องข้อมูล-จัดระเบียบสัญญาเช่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




บอร์ด ร.ฟ.ท.อนุมัติจ้างที่ปรึกษาสำรวจที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วประเทศ ยกเครื่องฐานข้อมูลใส่ลงระบบดิจิทัล ลุยจัดระเบียบบริหารทรัพย์สิน สัญญาเช่าตามแผนฟื้นฟู และเตรียมเดินหน้าประมูลบริหารสถานีสายสีแดงตลอดสาย


นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 1 เม.ย. มีมติอนุมัติการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาจัดทำฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพย์สินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งจะมีการทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ ระบบแผนที่ (GIS) และระบบสารสนเทศ (MIS ) เพื่อสำรวจ รังวัดแนวเขตที่ดินของ ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศ เป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีระเวลาดำเนินการ 720 วัน กรอบงบประมาณ 320 ล้านบาท

ปัจจุบันที่ดินรถไฟทั่วประเทศกว่า 2 แสนไร่ มีทั้งที่ดินจาก พ.ร.ฎ.เวนคืน ที่ดินแนวเขตทาง และที่ดินที่มีสัญญาเช่ากับเอกชน โดยเป็นที่ดินมีโฉนดประมาณ 2% มีแผนที่ ซึ่งเมื่อนำมาใช้อาจยังมีปัญหา ไม่ชัดเจน ซึ่งการปักหมุดแนวเขต ข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ และมีรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น จะทำให้ร.ฟ.ท.สามารถนำข้อมูลมาบริหารจัดการได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว ลดปัญหาความขัดแย้งกับเอกชน โดยเฉพาะที่เป็นสัญญาเชา

ทั้งนี้ การทำฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ (GIS) ที่ดินของ ร.ฟ.ท.ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการสำรวจแผนที่ภูมิศาสตร์โดยละเอียด เป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟูกิจการรถไฟ เนื่องจากการบริหารทรัพย์สินที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ ร.ฟ.ท. ขณะที่ข้อมูลด้านที่ดินรถไฟที่มีในปัจจุบันยังเป็นระบบเอกสาร การทำฐานข้อมูลใหม่เพื่อให้เป็นระบบดิจิทัลจะทำให้ใช้งานได้สะดวก

รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูล ร.ฟ.ท.ที่ดิน 234,976 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่เขตทาง 189,586 ไร่ (คิดเป็น 80.68% ของที่ดินรวม), พื้นที่บ้านพัก/ที่ทำการ 3,755 ไร่ (1.6%), พื้นที่ย่านสถานี (วางราง) 5,333 ไร่ (2.27%) และพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช้เพื่อการเดินรถ 36,302 ไร่ (15.45%) โดยมีพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ทั่วทั้งประเทศประมาณ 4 หมื่นกว่าไร่

@บอร์ดอนุมัติเดินหน้าประมูลเชิงพาณิชย์ 13 สถานีสายสีแดง

นายวรวุฒิกล่าวว่า นอกจากนี้ บอร์ด ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาแนวทางการบริหารพื้นที่สถานีโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เสนอโมเดลประมูลหาเอกชนบริหารสถานีกลางบางซื่อ แต่บอร์ดให้ ร.ฟ.ท.ศึกษาโมเดลการให้เอกชนรายเดียวบริหารพื้นที่สายสีแดงทั้ง 13 สถานีช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ซึ่งล่าสุดได้เสนอ 2 รูปแบบ คือ งานที่เป็นรายจ่าย เช่น งานด้านทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย และงานที่มีรายได้ เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ ป้ายโฆษณา ที่จอดรถ โดยบอร์ดรับทราบ 2 ทางเลือกแล้ว โดยให้ ร.ฟ.ท.พิจารณา และก่อนประมูลให้ทำรายละเอียดเสนอบอร์ดอีกครั้ง

“แนวทางชัดเจนขึ้นว่ารวมพื้นที่ทั้ง 13 สถานี แต่จะรวมงานที่เป็นค่าใช้จ่าย และงานที่สร้างรายได้อย่างไร ซึ่งค่าใช้จ่ายพอประเมินได้ แต่รายได้ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเท่าไร เพราะรถไฟไม่เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารพื้นที่ ซึ่งหากเอกชนรับภาระงานที่เป็นค่าใช้จ่ายไปด้วยจะทำให้สามารถวางแผน คิดหาวิธีในการหารายได้เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายได้ เช่น ควรจะคิดค่าบริการจาก User จาก Operator หรือไม่ กรณีค่าเช่าควรเก็บอัตราเท่าไรต่อตารางเมตร เป็นต้น โดยอย่างน้อยอายุสัญญาต้อง 10 ปี วงเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท”


กำลังโหลดความคิดเห็น