xs
xsm
sm
md
lg

เวนคืนเร่งด่วน! ทางหลวงท้องถิ่นเชื่อมวิภาวดีรังสิต-พหลโยธิน-เทพรักษ์ เข้าสนามบินดอนเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ว่าฯ กทม. ออกประกาศเวนคืนเร่งด่วน โครงการทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิต กับถนนพหลโยธิน พร้อมทางเชื่อมประตู 9 สนามบินดอนเมือง พบถ้าเวนคืนเร็วก่อสร้างเสร็จใน 2 ปี ชาวสะพานใหม่ วัชรพล สายไหม วิ่งฉิวไม่ต้องอ้อมรามอินทรา

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์ ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การเข้าครอบครองและใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืน ในกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน ลงนามโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญคือ ตามที่ได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน พ.ศ. 2561 ประกาศใช้บังคับในท้องที่แขวงสนามบิน เขตดอนเมือง และแขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ กทม. ในฐานะเจ้าหน้าที่เวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างทางหลวงท้องถิ่นสายดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ถ้าปล่อยเนิ่นช้าไป จะเป็นอุปสรรคแก่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือประโยชน์ของรัฐอันสำคัญอย่างอื่น

ผู้ว่าฯ กทม. โดยความเห็นชอบของ รมว.มหาดไทย เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2563 จึงกำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่นดังกล่าว เป็นกรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าครอบครองและใช้ประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นก่อนการเวนคืนได้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ การเข้าครอบครองและใช้อสังหาริมทรัพย์ก่อนการเวนคืนตามประกาศนี้ จะดำเนินการเมื่อได้จ่ายเงินค่าทดแทนหรือวางเงินค่าทดแทน ซึ่งเจ้าของมีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน และในกรณีที่เจ้าของไม่มารับเงินค่าทดแทนเจ้าหน้าที่จะวางเงินค่าทดแทนไว้ ณ ธนาคารออมสิน สาขาดินแดง ในชื่อของผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินค่าทดแทน โดยแยกฝากเป็นบัญชีเฉพาะราย


สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน เจ้าของโครงการคือ สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณปากซอยวิภาวดีรังสิต 72 ขนานไปกับทิศใต้ของท่าอากาศยานดอนเมือง ข้ามคลองลาดพร้าว ก่อนสิ้นสุดที่ถนนพหลโยธิน ระหว่างซอยพหลโยธิน 69/2 ถึง 69/3 และเชื่อมต่อกับถนนเทพรักษ์ (พหลโยธิน-สุขาภิบาล 5) รวมระยะทางประมาณ 2.76 กิโลเมตร เป็นโครงการถนนสาย 1 ตามแผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่งท้ายกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 เชื่อมต่อการเดินทางสู่พื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตคลองสามวา หนองจอก มีนบุรี และลาดกระบัง เพื่อแบ่งเบาการจราจรในถนนรามอินทรา และถนนประเสริฐมนูญกิจ (ถนนเกษตร–นวมินทร์) เชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนที่เดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีเขียว (สถานีสะพานใหม่) กับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง) และท่าอากาศยานดอนเมือง

โดยการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 สัญญา ได้แก่ ช่วงที่ 1 จากถนนวิภาวดีรังสิต ถึงสะพานข้ามคลองลาดพร้าว (กม.0+000 ถึง กม.1+550) ลักษณะเป็นถนนขนาด 5-6 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 920 เมตร ก่อนจะแบ่งออกเป็นสะพานเลียบคลองลาดพร้าว ขนาด 3 ช่องจราจร สำหรับขาเข้า และสะพานยกระดับ 1 ช่องจราจร เพื่อเชื่อมต่อเข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทางเข้า) ด้านถนนเทวฤทธิ์พันลึก (ช่องทาง 9) ด้านล่างเป็นถนนขาออกขนาด 3 ช่องจราจร และถนนเชื่อมต่อท่าอากาศยานดอนเมือง (ทางออก) ระยะทางประมาณ 630 เมตร รวมระยะทาง 1.550 กิโลเมตร ส่วนช่วงที่ 2 จากสะพานข้ามคลองลาดพร้าวถึงถนนเทพรักษ์ (กม.1+550 ถึง กม.2+768) เป็นการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร สะพานข้ามคลองลาดพร้าว และถนนระดับราบ รวมระยะทาง 1.218 กิโลเมตร ทั้งสองโครงการใช้เวลาก่อสร้าง 720 วัน งบประมาณแยกเป็นค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และค่าเวนคืน 2,000 ล้านบาท

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะทำให้ประชาชนในย่านสะพานใหม่ วัชรพล สายไหม เดินทางไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และท่าอากาศยานดอนเมืองได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลากับการจราจรติดขัดบนถนนรามอินทรา และต้องอ้อมไปยังถนนวิภาวดีรังสิตเพื่อเข้าสู่ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นระยะทางนับสิบกิโลเมตร นอกจากนี้ ผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ยังสามารถลงรถไฟฟ้าที่สถานีสายหยุด แล้วต่อรถแท็กซี่เลี้ยวซ้ายเข้าไปยังถนนสายใหม่เพื่อไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังรองรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เนื่องจากมีทางลงสุขาภิบาล 5 รองรับไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม โครงการถนนเทพรักษ์ยังเหลือช่วงถนนสุขาภิบาล 5 ถึงถนนนิมิตใหม่ ช่วงถนนนิมิตใหม่ ถึงถนนคลองเก้า และถนนคลองเก้าถึงถนนคู้คลองสิบ ที่กำลังรอการพัฒนาจากกรุงเทพมหานครในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น