xs
xsm
sm
md
lg

ตั๋วร่วมที่ไม่ได้ร่วม : MRT เติมเงินออนไลน์แล้วยังต้องปรับยอด

เผยแพร่:   โดย: กิตตินันท์ นาคทอง



กิตตินันท์ นาคทอง Facebook.com/kittinanlive

รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที (MRT) เปิดให้บริการเติมเงินในบัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที สำหรับสายสีน้ำเงิน และบัตรเอ็มอาร์ที พลัส สำหรับสายสีม่วง ผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา

นำร่องเติมเงินผ่าน 2 แอปพลิเคชัน คือ “Krungthai NEXT” ธนาคารกรุงไทย และ “TrueMoney Wallet” ของทรูมันนี่ โดยให้เติมเงินขั้นต่ำ 100 บาท สูงสุดไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และยอดเงินในบัตรรวมกันต้องไม่เกิน 2,000 บาท

บัตรเติมเงินผ่านช่องทางออนไลน์ได้ คือ บัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที, เอ็มอาร์ที พลัส, บัตรแมงมุม ได้ตั้งแต่บัตรบุคคลทั่วไป บัตรนักเรียน/นักศึกษา บัตรผู้สูงอายุ บัตรเด็ก บัตรโดยสาร และบัตรร่วมธุรกิจ ยกเว้นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ


วิธีการเติมเงินก็ไม่ยาก กรุงไทยเน็กซ์อยู่ในเมนู “เติมเงิน” กรอกหมายเลขบัตรโดยสาร 8 หลักที่ต้องการเติมเงิน (ตัวเลขพิมพ์สีทองบริเวณด้านหลังบัตร) แล้วเลือกจำนวนเงินที่ต้องการ ส่วนทรูมันนี่ต้องทำการเพิ่มบัตรลงไปในแอปฯ ก่อน

ข้อดีของการเติมเงินออนไลน์ก็คือ เติมที่ไหนก็ได้ เติมให้ใครก็ได้ ขอเพียงแค่มีหมายเลขบัตรโดยสาร 8 หลัก ลดการสัมผัสกับเงินสด ลดการติดต่อและแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกในขณะนี้

ส่วนข้อเสียก็คือ ยังไม่สามารถเติมเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิตได้ (แต่เห็นทรูมันนี่ทำระบบรองรับไว้) ต้องติดต่อห้องจำหน่ายบัตรโดยสารเหมือนเดิม ขั้นต่ำ 300 บาท ส่วนถ้าใครจะใช้ส่วนลดบัตรเครดิตก็ใช้กับเติมเงินออนไลน์ไม่ได้เช่นกัน

ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมก่อนว่า ดีแล้วที่รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีออกมาทำระบบเติมเงินออนไลน์ ตอบรับสังคมไร้เงินสดบ้าง ดีกว่าไม่คิดที่จะทำอะไรเลย ก็คาดหวังว่าจะพัฒนาให้มีช่องทางเติมเงินที่หลากหลาย และสะดวกรวดเร็วขึ้นมากกว่านี้


แต่ที่ยังขัดหูขัดตาก็คือ หลังเติมเงินเรียบร้อยแล้ว ก็ยังต้องนำบัตรไปที่สถานี แตะที่ “เครื่องปรับมูลค่าบัตรโดยสาร” (Activate Value Machine หรือ AVM) ที่ติดตั้งบริเวณเครื่องออกบัตรโดยสาร ก่อนนำบัตรแตะเข้า-ออกสถานีได้ตามปกติ

โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าเติมเงินไปแล้ว ยังไม่นำบัตรไปแตะที่เครื่อง AVM ภายใน 7 วัน ระบบจะคืนเงินที่เติมไปแล้วเข้าบัญชีธนาคาร หรือวอลเล็ทที่ใช้เติมเงินโดยอัตโนมัติ

ทำเอาผู้โดยสารที่ถือบัตรสงสัยว่า ไหนๆ จะพัฒนาแล้ว ก็ควรไปไกลกว่าอีกค่ายที่เป็นอยู่ ทำไมไม่ทำระบบให้เงินที่เติมลงในบัตรโดยสารไปแล้ว ปรับมูลค่าบัตรโดยสารทีเดียวไปเลย ไม่ต้องเสียเวลาแตะที่เครื่อง AVM อีกรอบ

ไม่นับรวมเสียงสะท้อนที่ว่า รถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที ควรที่จะดีลกับธนาคารชั้นนำอื่นๆ ที่ใช้งานง่ายกว่า มีลูกค้าเยอะกว่า หรือบางคนเสนอไปไกลถึงขั้นให้ใช้บัตรเดบิตหรือบัตรเครดิตแบบคอนแทคเลส แตะเข้า-ออกสถานีได้เหมือนต่างประเทศ

แม้จะยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ ออกมาว่า ทำไมต้องใช้เครื่อง AVM ปรับมูลค่าบัตรโดยสารอีก ทั้งๆ ที่ควรจะจบตั้งแต่เติมเงินผ่านแอปฯ ไปแล้ว แต่ก็น่าสังเกตว่า บัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทียังเป็น “ระบบปิด (Closed Loop)”

สื่อโฆษณาเปิดตัวบัตรโดยสาร MRT แบบเติมเงิน เมื่อปี 2558
บัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีรุ่นล่าสุด ผลิตขึ้นและวางจำหน่ายครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 หรือเมื่อ 5 ปีก่อน แทนที่บัตรรุ่นเก่า ซึ่งออกมาในช่วงรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (หัวลำโพง-บางซื่อ) ให้บริการเมื่อ 3 กรกฎาคม 2547

เหตุผลหนึ่งในการออกบัตรโดยสารรุ่นนี้ เพื่อรองรับการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม หรือรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) ซึ่งภายหลังได้ออกบัตรโดยสารที่ชื่อว่า “เอ็มอาร์ที พลัส” (MRT PLUS) ซึ่งมีคุณสมบัติไม่ต่างกัน

กระทั่งกระทรวงคมนาคมมีนโยบายตั๋วร่วม เพื่อใช้กับระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือโดยสารในบัตรเดียว ก่อนจะมีการแจก “บัตรแมงมุม” 2 แสนใบ มี การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าภาพหลัก

บัตรแมงมุมที่นำมาแจกเป็น “เวอร์ชั่น 2.5” ซึ่งเป็นระบบปิด (Closed Loop) แบบเดียวกับบัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที แต่พบว่าเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ เพราะทุกวันนี้ยังใช้ได้เพียงแค่รถไฟฟ้าสองเส้นทางเท่านั้น

กิจกรรมทางการตลาดเปิดตัวบัตรแรบบิท เมื่อเดือนพฤษภาคม 2555
ขณะที่คู่แข่งอย่าง “รถไฟฟ้าบีทีเอส” ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ พัฒนาระบบของตัวเอง เรียกว่า “แรบบิท” นำมาใช้ทดแทนบัตรบีทีเอส สมาร์ทพาส ประเภทเติมเงิน มาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2555 ซึ่งสามารถนำมาใช้กับร้านค้าต่างๆ ได้อีกด้วย

ที่ไปไกลก็คือ กลุ่มบีทีเอสร่วมทุนกับไลน์เพย์ พัฒนาแพลตฟอร์ม “แรบบิท ไลน์เพย์” ขยายร้านค้ารับบัตรไปทั่วประเทศ แถมยังพัฒนาให้ใช้กับรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งผูกบัตรแรบบิทกับไลน์เพย์ หรือซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวผ่านคิวอาร์โค้ด

แต่ก็ยังติดขัดตรงที่ บัตรแรบบิทที่ผูกกับไลน์เพย์ ยังขึ้นรถเมล์สมาร์ทบัส และรถเมล์อาร์ทีซีในจังหวัดใหญ่ๆ ไม่ได้ ต้องใช้บัตรแรบบิทธรรมดาอย่างเดียว ต้องเติมเงินที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารบีทีเอส หรือไม่ก็ร้านแมคโดนัลด์ก่อนใช้งาน

ปัจจุบันโครงการบัตรแมงมุมยังคงไม่มีความคืบหน้า แม้จะมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า จะพัฒนาระบบให้เป็น “เวอร์ชั่น 4.0” ซึ่งเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ใช้งานผ่านบัตร EMV (Euro/ Master/ Visa Card) ก็ตาม

ปัญหาที่ยังติดขัดก็คือ บีทีเอส รฟม. และบีอีเอ็ม ต้องลงทุนจัดทำระบบและดำเนินงานเอง โดยเฉพาะการเปลี่ยนหัวอ่านบัตรให้รองรับระบบ EMV ต้องลงทุนอีกนับร้อยล้านบาท ไม่นับรวมข้อตกลงธุรกิจที่ยังติดขัดอยู่ในขณะนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 15 เมษายน 2563 เห็นชอบหลักการ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม” หากมีผลบังคับใช้ก็จะจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการะบบตั๋วร่วม (คนต.)”

รัฐมนตรีคมนาคม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ประกาศว่า 1 ตุลาคม 2563 จะเปิดให้บริการตั๋วร่วมให้ได้ โดยเริ่มจากรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายก่อน แล้วค่อยขยายไปยังรถโดยสาร ขสมก. และเรือโดยสารในปี 2564

บอกตามตรงว่าคงเป็นไปได้ยาก รัฐมนตรีคมนาคมผ่านมากี่ยุคกี่สมัย โครงการตั๋วร่วมก็ไม่เคยเกิดขึ้นได้จริง “บัตรแมงมุม” ที่วาดไว้ก็วุ่นวายสมชื่อ ผลประโยชน์ไม่ลงตัว ฝ่ายหนึ่งได้ อีกฝ่ายหนึ่งเสีย ก็ไม่มีใครยอมใคร


คิดกันเล่นๆ ถ้าจะใช้บริการขนส่งมวลชนครบสูตร ต้องพกบัตรขึ้นรถไฟฟ้าและรถเมล์ไม่น้อยกว่า 3-4 ใบ

ใบแรก บัตรแรบบิท ที่แม้จะผูกกับแรบบิทไลน์เพย์ เพื่อใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ แต่ถ้าต้องขึ้นรถเมล์สมาร์ทบัส ก็ต้องพก บัตรแรบบิทใบที่สอง ซึ่งต้องเติมเงินที่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส หรือร้านแมคโดนัลด์เพื่อจ่ายค่ารถเมล์เตรียมไว้ก่อน

ใบที่สาม บัตรรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที เมื่อก่อนต้องไปเติมเงินที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารทุกครั้ง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนเครื่องออกบัตรโดยสารรุ่นใหม่ รวมทั้งเติมเงินออนไลน์ได้แล้ว แต่ก็ต้องนำบัตรไปแตะเพื่อปรับมูลค่าบัตร ดังที่กล่าวมาข้างต้น

ใบที่สี่ บัตรแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ สำหรับเดินทางระหว่างพญาไท มักกะสัน ไปยังลาดกระบัง และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นบัตรที่ไม่รู้อนาคตว่าจะใช้ได้ยาวกี่ปี เพราะกลุ่มซีพีเตรียมเข้าดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน

ใบที่ห้า บัตรโดยสาร ขสมก. เป็นบัตรที่ออกร่วมกับธนาคารกรุงไทย คนที่เดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. เป็นประจำจะใช้บัตรรายเดือน เดือนละ 1,020 บาท แต่ถ้าขึ้นไม่บ่อย รองรับบัตรเครดิตและบัตรเดบิตระบบคอนแทคเลส (Contactless)

ที่ตลกร้ายก็คือ นอกจากบัตรโดยสารแต่ละหน่วยงาน จะออกมาแบบต่างคนต่างทำแล้ว “บัตรร่วมธุรกิจ” เฉกเช่นบัตรเดบิตพ่วงกับบัตรรถไฟฟ้าทุกธนาคาร ไม่มี ระบบคอนแทคเลส (Contactless) ต่างจากบัตรเดบิตรุ่นใหม่ๆ อีกต่างหาก

เท่ากับว่า บัตรเดบิตใบนั้นขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่ขึ้นรถเมล์ ขสมก. ไม่ได้ ทั้งที่ค่าธรรมเนียมแพงกว่าบัตรเดบิตทั่วไป ที่ทุกวันนี้บัตรรุ่นใหม่แต่ละใบรองรับระบบคอนแทคเลสหมดแล้ว ได้แต่นึกในใจว่า “อิหยังวะ?”

ความยุ่งยากในการเติมเงินลงบัตรโดยสารรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที คงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความวุ่นวายของระบบบัตรโดยสารในไทย ยังคงยากที่ผู้ให้บริการแต่ละรายจะได้ลงเอยเป็น “ตั๋วร่วม” ไปด้วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น