“จุรินทร์” สั่งเตรียมพร้อมถกภาคเอกชน เม.ย.-พ.ค.นี้ หารือฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต การตลาด การค้าในประเทศ และส่งออก หวังลุยได้ทันทีหลังวิกฤตโควิด-19 สนค.คัดสินค้าศักยภาพประมาณ 30 รายการ และสินค้าอาหารในอนาคต 6 กลุ่มมาทำแผนดันส่งออก
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์เตรียมการร่วมมือกับภาคเอกชน ทั้งเกษตรกร สหกรณ์ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่และขนาดกลางขนาดย่อม ตลาดการค้าส่งค้าปลีก โมเดิร์นเทรด แพลตฟอร์มออนไลน์ และผู้ส่งออก เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิต การตลาด การค้าภายในประเทศ และการส่งออกต่างประเทศ ในช่วงหลังโควิด-19
“ตอนนี้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงพาณิชย์กำลังจัดเตรียมกำหนดการให้นายจุรินทร์ได้รับฟังปัญหา หาวิธีการแก้ปัญหาในพื้นที่ และวางแผนการทำงานในอนาคต ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2563 โดยจะมีการใช้กลไกที่กระทรวงมีอยู่แล้ว เช่น พาณิชย์จังหวัด พาณิชย์ต่างประเทศ เสริมกับเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น การค้าออนไลน์ แอปพลิเคชัน และหาแนวทางการเชื่อมโยงกลไกของกระทรวงพาณิชย์กับองค์กรภาคเอกชนทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทย ทั้งในประเทศ และการส่งออก”
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า เพื่อเตรียมการสำหรับการหารือกับกลุ่มต่างๆ ข้างต้น สนค.ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์การนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศต่างๆ ทั่วโลก และคัดเลือกมาประมาณ 30 รายการสินค้าศักยภาพ ที่บางรายการตลาดโลกยังอาจจะนำเข้าจากไทยเพิ่มได้ เช่น กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ซึ่งปัจจุบันไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกเพียง 4.4% หรือลิ้นจี่ที่ไทยมีสัดส่วนตลาดโลก 6% ในขณะที่สินค้าบางรายการไทยทำได้ดีอยู่แล้ว ต้องรักษาไม่ให้สัดส่วนลดลง เช่น ข้าวสาร ทูน่ากระป๋อง และไก่แปรรูป ซึ่งมีสัดส่วนตลาดโลกที่ 24.6%, 27.3% และ 31.2% ตามลำดับ
นอกจากรายการสินค้าศักยภาพแล้ว สนค.ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารในอนาคต (Future food trends) โดยคัดเลือกมา 6 แนวโน้มที่ไทยอาจจะรุกตลาดให้มากขึ้น ได้แก่ 1. ตลาดอาหารรักษาสุขภาพ 2. อาหารที่มีการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 3. สินค้าพรีเมียมที่มีจุดขายเฉพาะ เช่น น้ำตาลต่ำ อาหาร plant-based หรือคีโต (ketogenic) 4. อาหารสำหรับกลุ่มผู้สูงวัย 5. การให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคมากขึ้นและโปร่งใส และ 6. สินค้าที่มีเรื่องราว เช่น สินค้า GI, OTOP เป็นต้น และยังมีสินค้าฮาลาลอีกกลุ่มหนึ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนต่อไป