xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 14 คลัสเตอร์อุตฯ ไทยเริ่มอ่อนแรง จี้รัฐอัดสินเชื่อพยุงต้องเข้าถึง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สภาองค์การนายจ้างฯ จับตา 14 คลัสเตอร์หลักของไทยเริ่มอ่อนแอมากขึ้นหลังมูลค่าส่งออกติดลบต่อเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ทั่วโลก หากสถานการณ์ยืดเยื้อ 1-2 เดือนส่อปิดกิจการและแรงงานตกงานเพิ่ม ขณะที่ภาคเกษตรเจอภัยแล้งซ้ำเติมอีก หนุนรัฐอัดเงิน 1.9 ล้านล้านบาทพยุง ศก. แต่การอัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำอุ้มธุรกิจต้องปรับวิธีให้เข้าถึงได้จริง


นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้คงจะต้องติดตามใกล้ชิดถึงแนวโน้มภาคการผลิตของไทยที่เริ่มเข้าสู่ภาวะอ่อนแอ โดยพบว่าเดือน ก.พ. 63 ที่คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหลัก 14 คลัสเตอร์ยังคงมีมูลค่าส่งออกติดลบต่อเนื่องนับจากสิ้นปีที่ผ่านมา เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน คอมพิวเตอร์ ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องนุ่งห่ม เหล็ก เครื่องสำอาง ฯลฯ หากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงยืดเยื้ออีก 1-2 เดือนคาดว่าจะส่งผลกระทบให้กิจการในคลัสเตอร์ดังกล่าวโดยเฉพาะที่เป็นรายกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) อาจต้องมีการปิดตัวลงและไม่อาจรักษาอัตรากำลังการจ้างงานไว้ต่อเนื่องได้


“ขณะนี้เราต้องยอมรับว่าแรงงานที่ตกงานส่วนใหญ่เป็นในส่วนของคลัสเตอร์ท่องเที่ยวและภาคการบริการ ค้าปลีกห้างร้านต่างๆ เสียมากกว่าที่ส่งผลให้ตัวเลขตกงานขณะนี้อยู่ระดับ 7 ล้านกว่าคน ขณะที่มีภาคการผลิตเฉลี่ยจะมีแรงงานอีก 6.1 ล้านคนซึ่งในส่วนนี้ยังพยายามประคองอาจจะมีปิดกิจการและลดคนงานไปบ้างแล้วแต่ยังไม่มาก ซึ่งหากสถานการณ์โควิด-19 ในไทยและทั่วโลกยังไม่ดีขึ้นก็จะเห็นผลกระทบเพิ่มขึ้น” นายธนิตกล่าว


นอกจากนี้ยังมีแรงงานในภาคการเกษตรอีก 9 ล้านครัวเรือน หรือราว 12 ล้านคนที่อาจจะได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงในปี 2563 ซึ่งคงต้องติดตามใกล้ชิด ซึ่งในอดีตภาคการเกษตรของไทยจะมีส่วนสำคัญในการรองรับเด็กจบใหม่ และคนว่างงานจากภาคอื่นๆ ให้ไปทำงานในภาคนี้ได้ แต่ปีนี้พบว่าภาคเกษตรของไทยอ่อนแอเช่นกันเพราะภาคเกษตรของไทยเองส่วนหนึ่งไปสัมพันธ์กับการส่งออก เช่น ข้าว ปาล์ม มันสำปะหลัง ฯลฯ ที่จะพบว่าการส่งออกมีทิศทางที่ติดลบเช่นกัน


อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้กำหนดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ระยะ 3 ผ่าน 3 มาตรการวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่นับว่าใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วและครอบคลุมหลายสาขา แต่ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นแม้รัฐจะมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยที่ต่ำ แต่หากในทางปฏิบัติยังคงยึดแนวทางปกติที่สถาบันการเงินยังคงเน้นความสามารถในการทำรายได้ เน้นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ธุรกิจที่เดือดร้อนจริงๆ ก็ไม่อาจเข้าถึงแหล่งเงินทุนดังกล่าวได้เนื่องจากธนาคารเองยังคงเกรงปัญหาหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่รัฐจะมีการตั้งกองทุนขึ้นมาบริหารหนี้เสียดังกล่าว


“หากรัฐยังคงใช้วิธีปล่อยกู้แบบปกติก็เชื่อว่าเงินจะเข้าไม่ถึงธุรกิจที่เขาเดือดร้อนจริงๆ ได้ รัฐต้องปรับใหม่ให้เป็นการกู้แบบพิเศษ ให้บรรษัทประกันสินเชื่อขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน 40-50% ของวงเงินกู้ และหากมีปัญหา NPL รัฐจะเข้ามาบริหารเหมือนกับที่เกิดกรณีวิกฤตปี 2540 แต่เน้นธุรกิจที่เดือดร้อนจริงๆ เพื่อประคองให้อยู่รอดและรักษาแรงงาน” นายธนิตกล่าว


ทั้งนี้ ผลกระทบโควิด-19 มีความรุนแรงมากกว่าวิกฤตปี 2540 ที่ทุกฝ่ายต้องเตรียมพร้อมรับมือเพราะผลกระทบนั้นเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้จีนจะมีสถานการณ์ที่ดีขึ้นมากแต่ภาพรวมการผลิตก็ยังไม่ได้ฟื้นตัว 100% ขณะที่ยุโรป และสหรัฐฯ สถานการณ์ยังคงหนักอยู่ ดังนั้นภาพการส่งออกของไทยปี 2563 ยังคงติดลบ ซึ่งตนมองว่าน่าจะติดลบ 8-10% ขึ้นอยู่กับว่าสถานการณ์จะยืดเยื้อไปมากน้อยเพียงใด


กำลังโหลดความคิดเห็น