อาเซียนถกหาแนวทางรับมือผลกระทบจากโควิด-19 เผยหลายประเทศสนใจร่วมด้วย โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร เล็งคุยสำรองอาหารเพื่อใช้เลี้ยงประชากรในอาเซียน คาดได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้ก่อนออกแถลงการณ์ร่วม ขณะที่องค์กรระหว่างประเทศออกโรงเตือนผู้ส่งออกอาหารอย่าห้ามส่งออก หวั่นเกิดภาวะขาดแคลนช่วงโควิดระบาด
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้อาเซียนได้ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในการหาความร่วมมือที่จะดำเนินการร่วมกันเพื่อรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง รวมถึงสังคมและวัฒนธรรม โดยมีกระทรวงการต่างประเทศเป็นเจ้าภาพหลัก ซึ่งประเทศคู่เจรจาของอาเซียนหลายประเทศ สนใจที่จะร่วมหารือด้วย ซึ่งเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะออกเป็นแถลงการณ์ร่วมต่อไป
ทั้งนี้ ในด้านเศรษฐกิจ อาเซียนได้หารือถึงความพยายามที่จะลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก ซึ่งจากการประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (อย่างไม่เป็นทางการ) เมื่อต้นเดือนมี.ค. 2563 ที่เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในการบรรเทาและลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เช่น อาเซียนยังคงเปิดกว้างสำหรับการค้าและการลงทุน ไม่ดำเนินการใดๆ ที่จะทำให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ หรือผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาค ไม่ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่จะทำให้การค้าสินค้าและบริการไม่คล่องตัว เป็นต้น
“การหารือของอาเซียนยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ในด้านเศรษฐกิจ อาจมีแนวทางเพิ่มเติมที่อาเซียนได้คุยกันบ้างถึงความมั่นคงด้านอาหาร หรือการสำรองอาหารสำหรับเลี้ยงประชากรอาเซียน เช่น ข้าว สินค้าเกษตรอื่นๆ เพราะในอาเซียนหลายประเทศไม่ได้ปลูกข้าวกินเอง และยังคุยกันถึงการจัดตั้งกองทุนร่วมกันเพื่อรองรับผลกระทบของสมาชิก คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในเร็วๆ นี้ จากนั้นก็จะออกเป็นแถลงการณ์ร่วมกัน” นางอรมนกล่าว
สำหรับความมั่นคงด้านอาหาร ขณะนี้หลายประเทศ รวมถึงองค์การระหว่างประเทศ ทั้งองค์การการค้าโลก (WTO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือองค์การอนามัยโลก (WHO) มีความกังวลมากว่าในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสำคัญของโลกจะมีมาตรการห้ามการส่งออก และเรียกร้องให้ผู้ส่งออกไม่ออกมาตรการทางการค้าที่จะกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร หรือทำให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารได้รับผลกระทบจนทำให้อาหารขาดแคลน ในขณะที่หลายประเทศที่ไม่ใช่ผู้ผลิตอาหารและต้องนำเข้าอย่าง สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ รวมถึงประเทศในหมู่เกาะต่างๆ ออกถ้อยแถลงร่วมกันในการอำนวยความสะดวกให้สินค้าสามารถไหลเข้าออกได้อย่างคล่องตัวในช่วงการระบาด ภายหลังจากที่หลายประเทศเริ่มจำกัด หรือห้ามการส่งออกสินค้าจำเป็นแล้ว
ส่วนกรณีที่หลายประเทศใช้มาตรการปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาด อยากจะให้แต่ละประเทศเปิดทางให้กับการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้วย เพื่อไม่ให้ห่วงโซ่การผลิตสินค้า โดยเฉพาะอาหารได้รับผลกระทบจนเกิดภาวะขาดแคลนตามที่หลายประเทศกังวล