xs
xsm
sm
md
lg

กรมเจรจาฯ แนะใช้เอฟทีเอขยายตลาดส่งออกผลไม้แปรรูป ป้อนความต้องการช่วงวิกฤตโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแนะนำเกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปผลไม้ส่งออก ป้อนความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้น จากการกักตัวของประชาชนในหลายประเทศช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด ย้ำอย่าลืมใช้เอฟทีเอลดภาษี หลังมี 13 ประเทศที่ยกเลิกเก็บภาษีสินค้าจากไทยแล้ว ส่วนอีก 5 ประเทศเก็บแค่บางรายการ พร้อมขอให้รักษาคุณภาพ มาตรฐาน เพื่อให้สินค้าแข่งขันได้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้หลายประเทศมีความต้องการบริโภคอาหารที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่เน่าเสียเพิ่มขึ้น ซึ่งกรมฯ ได้ทำการติดตาม พบว่ามีสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่มีโอกาสในการส่งออกเพื่อป้อนความต้องการที่เพิ่มขึ้น คือ กลุ่มของผลไม้แปรรูป เช่น ผลไม้แห้ง ผลไม้กวน แยมผลไม้ น้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง เป็นต้น ซึ่งหากกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ทำการแปรรูปผลไม้ที่กำลังออกสู่ตลาด ก็จะเพิ่มโอกาสในการส่งออกได้มากขึ้น

ในการส่งออกจะต้องใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยทำกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีถึง 13 ประเทศคู่เอฟทีเอ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง ได้ยกเลิกภาษีศุลกากรที่เก็บกับสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทุกรายการจากไทยแล้ว เหลือเพียงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้าบางรายการ

“สินค้าผลไม้สดกำลังเผชิญปัญหาการส่งออกชะงักงันจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงถือเป็นโอกาสที่เกษตรกรและผู้ประกอบการไทยจะเพิ่มการแปรรูปสินค้าผลไม้สด เป็นผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูป โดยเฉพาะผลไม้เมืองร้อนที่เป็นจุดแข็งของไทย เพื่อขยายส่งออกไปตลาดที่ไทยมีแต้มต่อจากเอฟทีเอและตลาดโลก แต่ผู้ประกอบการควรรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐานการผลิตสินค้า เพื่อลดอุปสรรคการกีดกันทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้านำมาบังคับใช้ เช่น มาตรฐาน HACCP และมาตรฐาน GMP รวมทั้งมาตรการติดฉลากอาหาร เป็นต้น” นางอรมนกล่าว

นางอรมนกล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปของไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพ รวมถึงมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกสูงเป็นอันดับที่ 5 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป จีน สหรัฐฯ และสเปน โดยในปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าผลไม้กระป๋องและผลไม้แปรรูปไปทั่วโลกรวมเป็นมูลค่า 1,634 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยผลไม้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไทยส่งออกไปตลาดโลกได้มากที่สุด มูลค่า 665 ล้านเหรียญสหรัฐ มีสัดส่วน 41% เมื่อเทียบกับส่วนแบ่งตลาดสินค้าผลไม้กระป๋องและแปรรูปทั้งหมด รองลงมาคือ น้ำผลไม้ มูลค่าส่งออก 572 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 35% และผลไม้กระป๋อง มูลค่าส่งออก 398 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 24% ประเทศคู่ค้าสำคัญ 5 อันดับแรก คือ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป อาเซียน ญี่ปุ่น และจีน

ส่วนการเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกผลไม้กระป๋องและแปรรูปของไทย ปีก่อนที่ไทยจะมีเอฟทีเอฉบับแรกกับอาเซียนในปี 2535 จนถึงปัจจุบันพบว่าเอฟทีเอช่วยผลักดันการส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 190% เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกไปประเทศคู่เอฟทีเอรายประเทศ พบว่าขยายตัวขึ้นอย่างน่าพอใจ โดยจีน เพิ่ม 968% รองลงมาคือ อาเซียน 688% ออสเตรเลีย เพิ่ม 259% และเกาหลีใต้ เพิ่ม 174%


กำลังโหลดความคิดเห็น