“พาณิชย์” ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพิ่มอีก 2 รายการ “ผ้าม่อฮ่อมแพร่-กล้วยหอมทองปทุม” เผยจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าชุมชน เพิ่มรายได้ให้ท้องถิ่น เตรียมเดินหน้าทำระบบควบคุมคุณภาพ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ได้ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีก 2 รายการ ได้แก่ ผ้าม่อฮ่อมแพร่ และกล้วยหอมทองปทุม ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว 120 รายการ จาก 76 จังหวัด ซึ่งการขึ้นทะเบียน GI จะช่วยคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิเฉพาะของชุมชน มีการรักษามาตรฐานของสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาและคุณภาพของสินค้า และจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนด้วยความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้เฉพาะท้องถิ่น
สำหรับผ้าม่อฮ่อมแพร่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เป็นผ้าทอพื้นเมืองที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติหรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้เกิดลวดลายด้วยการมัดย้อม การจุ่ม หรือการพิมพ์ลายด้วยภูมิปัญญาการก่อม่อฮ่อมที่ใช้ใบและต้นฮ่อมที่ปลูกในจังหวัดแพร่ ทำให้ผ้าทอและเสื้อผ้าที่ผ่านการย้อมมีเฉดสีฟ้าถึงสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งผลิตขึ้นในพื้นที่จังหวัดแพร่ ที่หลายท่านรู้จัก
ส่วนกล้วยหอมทองปทุม เป็นกล้วยหอมทองที่มีผลใหญ่ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย ผิวนวล เปลือกบาง ผลดิบ สีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่นรสชาติหอมหวาน ปลูกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
“หลังจากขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI แล้ว กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา มีแผนที่จะส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า โดยการจัดทำระบบควบคุมสินค้าเพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การช่วยพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และผลักดันสินค้า GI เข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีแผนที่จะนำสินค้า GI ไปจัดแสดง เช่น งาน GI Market 2020 เพื่อแนะนำสินค้าให้ผู้บริโภครู้จัก และการนำเข้าร่วมงาน Thaifex และงาน Style Bangkok 2020 เพื่อเปิดตัวออกสู่ตลาดต่างประเทศ” นายวีรศักดิ์กล่าว