xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.กระจายหน้ากากอนามัยใหม่ ปรับแผนเน้นให้บุคลากรการแพทย์-เจ้าหน้าที่กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 เริ่มเย็นนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ที่ประชุม ศบค.สั่งปรับแผนส่งหน้ากากอนามัยใหม่ทั้งหมด ให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย ทำหน้าที่จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ มั่นใจถึงมือบุคลากรทางการแพทย์และผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ลั่นตรวจสอบได้ทั้งหมด จ่อยกเว้นภาษีนำเข้ายา-เวชภัณฑ์เกี่ยวกับโควิด-19







วันนี้ (30 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันเมื่อช่วงเช้านี้ ที่ประชุมได้วางแนงทาปฎิบัติในเรื่องแผนการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังทั่วประเทศ นายวิษณุกล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย 11 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมวันละ 2.3 ล้านชิ้น เพิ่มขึ้นราว 1 ล้านชิ้น จากเดิมที่สามารถผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดแผนการกระจายหน้ากากอนามัย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 17.00 น.วันนี้เป็นต้นไป โดยให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย ทำหน้าที่จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

1. จัดส่งไปให้สาธารณสุข รวม 1.3 ล้านชิ้น ซึ่งในโควตาดังกล่าวนี้จะถูกกระจายไปยังบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ โดยจะมีการบันทึกรายชื่อผู้รับ-ผู้ส่งอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ 2. จัดส่งไปให้มหาดไทย รวม 1 ล้านชิ้น ซึ่งในโควตาดังกล่าวนี้จะถูกกระจายไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด รวมทั้งกรุงเทพฯ เพื่อส่งต่อไปให้กลุ่มที่ต้องทำงานในพื้นที่เสี่ยง เช่น อสม. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ที่ต้องให้บริการประชาชนในสถานที่ราชการ พนง.เก็บขยะ รวมถึงกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตั้งแต่ 5 โมงเย็นวันนี้ รถไปรษณีย์จำนวน 40 คัน จะเริ่มนำสินค้า (หน้ากากอนามัย) จากหน้าโรงงานไปสู่ทุกจังหวัด ช่วงระยะเวลา 3-4 วันนี้จะต้องดำเนินการในลักษณะนี้ไปก่อน เมื่อหน้ากากอนามัยมีเพียงพอเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว จากนั้นจะค่อยกระจายไปให้ประชาชน และร้านค้าทั่วไป พร้อมยืนยันว่าจะไม่มีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม แต่การจะส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศได้นั้นอยู่ภายใต้ข้อยกเว้น 3 กรณี คือ 1. เป็นการผลิตที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI 2. มีข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญากับต่างประเทศ และ 3. มีข้อตกลง FTA ระหว่างประเทศที่ให้ผลิตและส่งออกได้

ทั้งนี้ นายวิษณุยังกล่าวถึงสถานการณ์การจำหน่ายไข่ไก่ในประเทศด้วยว่า ขอร้องประชาชนอย่ากักตุนไข่ไก่ เพราะยืนยันว่าไข่ไก่ไม่ได้ขาดตลาด เนื่องจากประเทศไทยมีกำลังการผลิตไข่ไก่ถึงวันละ 41 ล้านฟอง เมื่อมีประกาศล่าสุดห้ามการส่งออกไข่ไก่ไปต่างประเทศชั่วคราวแล้วนั้นก็จะทำให้มีปริมาณไข่ไก่หมุนเวียนในประเทศเพียงพอต่อความต้องการบริโภคของประชาชนที่มีอยู่ราว 39 ล้านฟองต่อวันได้ เพราะจะยังมีปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินอีก 2 ล้านฟอง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เชื่อว่าอีกไม่กี่วันสถานการณ์ไข่ไก่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หรือปริมาณไข่ไก่อาจจะล้นตลาดด้วยซ้ำ



กำลังโหลดความคิดเห็น