แพทย์รามาฯหวั่นสถานการณ์การแพร่ระบาดCOVID-19 ทวีความรุนแรง หากประชาชนยังละเลย ไม่ร่วมมือป้องกันดูแลตัวเอง อาจได้เห็นยอดผู้ติดเชื้อหมื่นคนใน2สัปดาห์เหมือนยุโรป แนะประชาชนคนไทยร่วมมือ"ล็อคดาวน์"อยู่ที่บ้าน เพื่อให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปก่อน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในขณะนี้ว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เร่งเตรียมการในการรักษาผู้ป่วยขั้นรุนแรง ที่อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยตัวเลขผู้ป่วยCOVID-19 ที่เข้ามารักษาในรพ.รามาธิบดีมีแล้วรวม 45 ราย โดยโรงพยาบาลได้เตรียมรองรับผู้ป่วยเพิ่มที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ มีจำนวน 400 เตียง แต่รองรับผู้ป่วยเฉพาะCOVID-19 ได้ 48 เตียง
ผศ. นพ.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าจากสถิติของจีนที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น ผู้ป่วยร้อยละ 85 มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มร้อยละ 15 ที่มีภาวะแทรกซ้อน ซึ่งมีอาการรุนแรง ลุกลามอย่างรวดเร็วทำให้ปอดอักเสบ โดยจำนวนนี้ร้อยละ5 ปอดจะอักเสบรุนแรง ต้องช่วยการหายใจด้วยอุปกรณ์พิเศษอย่างเครื่อง ECMO ที่ทำหน้าที่เหมือนปอดและหัวใจเทียม
" ในขณะนี้น่าเป็นกังวลกับตัวเลขผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้นมาก หมอทั้งประเทศมีเพียง 3 หมื่นราย และจำนวนนี้ไม่ใช่มีผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาไวรัส หรือปอดทั้งหมด ต้องรักษาผู้ป่วยอื่นๆ รวมทั้งเครื่องมือ เตียงก็ต้องรองรับผู้ป่วยอื่นๆด้วย ดังนั้นเพื่อลดการแพร่ระบาดของโลกทุกคนสามารถช่วยได้ โดยการลดการทำกิจกรรมนอกบ้าน และขอให้อยู่กับบ้านมากขึ้นจะช่วยประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ซึ่งโรคCOVID-19 ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่เป็นเรื่องซีเรียส ละเลยไม่ได้ ทุกคนต้องร่วมมือเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดไปมากกว่านี้ “
รศ. ดร. พญ.ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์ หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ได้ติดตามสถานการณ์จากต่างประเทศ มีการระบาดรุนแรง และนำตัวเลขการติดเชื้อของคนไทยไปคำนวณทางสถิติเปรียบเทียบ ซึ่งการติดเชื้อเฉพาะ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ซึ่งมีเพิ่มขึ้นวันเดียว 30 คนนับว่าเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกับอิตาลีที่พุ่งขึ้น 33 %ต่อวัน ดังนั้น หากรัฐบาลไม่มีมาตรการเข้มข้นออกมาออกมาย้ำเตือน โดยเฉพาะให้ประชาชนล็อคดาวน์อยู่ที่บ้าน การปิดโรงเรียน ปิดสถานที่ชุมชนต่างๆ ก็จะทำให้ ตัวเลขผู้ป่วยในไทย พุ่งขึ้น อีก หากคำนวณอัตราการเพิ่มขึ้น 33%ต่อวัน จะพบว่าในอีก 4 วันข้างหน้า ยอดผู้ติดเชื้อCOVIF-19 จะแตะระดับนับ 1,000คน อีก 10 วันจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 และอีก 14 วัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 คน ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆไม่สามารถรองรับกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยได้
“สถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทยยังเป็น Golden Period ที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มาก แต่เริ่มเพิ่มขึ้น สถานการณ์ขึ้นอยู่กับรัฐบาล และประชาชนว่าจะเลือกไปทางไหน หากเป็นไปแบบเข้มงวดเหมือนสิงคโปร์ ฮ่องกงเข้มงวดปิดสถานที่ชุมชน เช่น โรงเรียน ปิดประเทศ ตัวเลขผู้ป่วยจะ ค่อยๆ เพิ่มขึ้น ยอดผู้ป่วยเพิ่มจะต่ำมาก บุคลากรทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์จะยังมีเพียงพอสำหรับการรักษาผู้ป่วย แต่หากปล่อยไปเลยเถิดแบบอิตาลี อิหร่าน เกาหลี อีก14 วันตัวเลขผู้ติดเชื้อจะเป็นหมื่น เราจะไม่มีทรัพยากรดูแลผู้ป่วย ปัญหาใหญ่จะตามมาก ซึ่งการป้องกันนั้นย่อมสำคัญกว่าการรักษา ยิ่งยังไม่มีวัคซีน เราจึงขอให้ทุกคนร่วมกันดูแลตัวเอง โดยเฉพาะ LOCK DOWN เพื่อที่จะได้ผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน” รศ. ดร. พญ.ภัทรวัณย์ กล่าว