ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ มีการประชุมหารือรับมือ COVID-19 ผู้ร่วมประชุมประกอบไปด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหารของกระทรวง เช่น อธิบดีกรมการแพทย์, อธิบดีกรมควบคุมโรค, รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นอกจากนั้น ยังมีผู้บริหารจากคณะแพทยศาสตร์จากสถาบันต่างๆ อาทิ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการหารือเตรียมความพร้อมหากการระบาดเข้าสู่เฟส 3
โดยในที่ประชุมเห็นตรงกันให้ยกระดับขีดความสามารถในการตรวจโรค เป็นความรับผิดชอบของคณะวิทยาศาสตร์ และคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
เพื่อให้มีความไวและแม่นยำในการตรวจเพิ่มขึ้นสามารถให้ผลได้ในเวลา 1 ชั่วโมง คาดว่าจะประสบความสำเร็จในอีกหนึ่งสัปดาห์
นอกจากนั้นยังเสนอให้จัดศูนย์ดูแลผู้ป่วยหนักในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกัน มีข้อสรุปให้อธิบดีกรมการแพทย์และประธานกลุ่ม UHosNet ไปประสานงานร่วมกัน โดยมีแนวคิดให้ใช้โรงพยาบาลจำนวนน้อยที่สุด แต่ใช้บุคลากรทางการแพทย์จากสถาบันต่างๆ มาบูรณาการช่วยกัน เพื่อจำกัดความเสี่ยงในการระบาดใน รพ.
การเตรียมการโรงพยาบาลภาคสนามในเขตกรุงเทพมหานครได้ โดยเตรียมไว้ 4 มุมเมือง เพื่อรองรับกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น โรงพยาบาลสีกัน โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก โรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ และ โรงพยาบาลบางขุนเทียน (กทม.) โรงพยาบาลสิรินธร (กทม.) เป็นต้น
รวมไปถึงการจัดสรรและแบ่งปันวัสดุอุปกรณ์การแพทย์สำคัญ เช่น กำหนดให้ Mask N95 เป็นสินค้าควบคุมให้กับโรงพยาบาลที่ให้การรักษาพยาบาลเท่านั้น และมีการจัดสรรให้แต่ละแห่งตามปริมาณการดูแลผู้ป่วยตามความเป็นจริง โดยบริหาร กำกับโดยตัวแทนจากทุกสังกัด ทั้งนี้ เสนอให้ตั้งงบกลางเพื่อจัดหาวัสดุสำคัญเหล่านี้สำรองไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการหารือ ที่ประชุมได้ถามความเห็นถึงมาตรการปัจจุบันกับ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ปิยมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ซึ่งทั้งหมดให้ความเห็นตรงกันว่า มาตรการที่ใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงทำให้การแพร่ระบาดยังอยู่ในระยะที่ 2 แต่เพื่อความไม่ประมาท จึงจำเป็นต้องหารือเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกรณีการแพร่ระบาดไปถึงระยะที่ 3
ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ทั้ง 3 สถาบัน พร้อมเป็นกำลังใจและให้ความร่วมมือสนับสนุนทีมแพทย์พยาบาลในภารกิจควบคุมการแพร่ระบาดให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี