สธ.คาดตรวจโควิด-19 ด้วยวิธีพีซีอาร์ในทุก รพ.จังหวัด อีก 1-2 สัปดาห์ พร้อมขยายคัดกรองโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่รายใหม่และย้อนหลัง ด้วยการใช้แรพิดเทสต์ วิธีการตรวจอย่างรวดเร็วรู้ผลใน 1 ชั่วโมง
วันนี้ (12 มี.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีองค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคโควิด-19 เป็นการระบาดใหญ่ และ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา โควิด-19 เพิ่มขึ้น 13 เท่า ว่า สธ.ได้มีการติดตามเป็นระยะ และเพิ่มมาตรการการดูแลและการคัดกรองค้นหาผู้ป่วยมากขึ้น วันนี้จากเดิมที่เราเคยดูเฉพาะคนต่างชาติ คนสัมผัสใกล้ชิดคนต่างชาติ ก็ขยายมาคัดกรองบุคลากรทางการแพทย์ มีปอดบวมโดยไม่ทราบสาเหตุ และต่อไปกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะขยายการตรวจโควิด-19 ในกลุ่มวินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะทำทั้งย้อนหลังและทำในระยะต่อไป ทำให้สามารถครอบคลุมได้มากขึ้น บางครั้งการวินิจฉัยต้องคิดถึงและขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ ซึ่งศักยภาพของ สธ.เราเตรียมความพร้อม อย่างการจัดหาอุปกรณ์ เช่น หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ก็มีการเช็กยอดและทยอยส่ง หน่วยงานไหนจำเป็นก็ประสานมาที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดส่งเร่งด่วน โดยวางแผนสต๊อกไว้อย่างน้อย 1 เดือนในทุกรพ.ของ สธ.
นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังเห็นว่า เรื่องขวัญกำลังใจของบุคลากรที่ทำงานช่วงนี้ ก็ได้จัดค่าเสี่ยงภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ระบาด ที่ให้ดูแลผู้ป่วยและผู้เฝ้าสังเกตการณ์ ก็มีการลงนามมาเรียบร้อยแล้ว และจะทยอยเบิกตั้งแต่ ม.ค. 2563 ถือเป็นขวัญกำลังใจ และมีการทำกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่บุคลากรสาธารณสุข ก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก คิดว่า เรื่องบุคลากรเราเตรียมเครื่องมือเครื่องใช้เวชภัณฑ์
เมื่อถามถึงกรณการขยายการตรวจวินิจฉัยโควิด-19 ในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ในเรื่องการตรวจวินิจฉัยของโควิด-19 ปัจจุบันใช้วิธีการตรวจพีซีอาร์ ซึ่งศักยภาพในการตรวจ สธ.ได้ขยายออกไปในทุก รพ. โดยคาดว่า ใน 1-2 สัปดาห์ รพ.ประจำจังหวัดจะพร้อมให้บริการตรวจวิธีนี้ ซึ่งน่าจะเพิ่มศักยภาพจากเดิม 2-3 เท่า ถ้าหากมีเคสเพิ่มขึ้น และนโยบายของปลัด สธ.คือ ตอนนี้เรามีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ป่วยหนัก ปัจจุบันเมื่อไม่ได้เสี่ยงแต่อยากจะตรวจโควิด-19 ก้จะตรวจให้ ซึ่งกรมฯ ได้เตรียมเรื่องของแรพิดเทสต์ ว่า เป็นการตรวจสกรีนนิ่งอย่างรวดเร็ว คาดว่า ไม่เกิน 2 สัปดาห์จะดำเนินการใช้แรพิดเทสต์ เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับคนเสี่ยงน้อยแต่อยากตรวจ
นพ.สุขุม กล่าวว่า เรามีการพัฒนาชุดทดสอบที่รู้ผลได้ใน 1 ชั่วโมง เพื่อการวินิจฉัยเร่งด่วน เป็นความร่วมมือระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คิดว่า จะเพิ่มความไวแปรผลได้ใน 1 ชั่วโมง และในสัปดาห์น่าจะเริ่มเป็นรูปแบบและเอามาใช้ได้
เมื่อถามถึงกรณีการปิดศูนย์กักตัว นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผู้ที่มาจาก 4 ประเทศเขตติดโรค เมื่อมาถึงจะมีการคัดกรอง ซึ่งมี 3 จุด หากมีไข้ก็จะถูกแยกตัวออกไปรักษา แต่หากไม่มีไข้ทุกรายในส่วนของต่างชาติจะดำเนินการออกคำสั่งให้ไปกักกันในส่วนของโรงแรม หรือที่พักที่กำหนดที่แจ้งเข้ามา ส่วนคนไทยเข้มงวดเรื่องการให้ไปกักกันตามภูมิลำเนา โดยกระทรวงคมนาคมสนับสนุนการส่งไปยังภูมิลำเนา เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนที่เกี่ยวข้องติดตามให้ครบ 14 วัน ซึ่งจะมีในส่วนของฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ช่วยติดตาม ในส่วนของสาธารณสุข ก็มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงไปเคาะเยี่ยมบ้าน และมีการจัดทีมสุขภาพจิตไปช่วยดูแล เพื่อให้มีกำลังใจในการกักตัว 14 วัน
เมื่อถามถึงการยกเลิก VOA 18 ประเทศ นพ.สุขุม กล่าวว่า มาตรการดักล่าวเสนอโดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกและมีการคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง เพราะการต้องขอวีซ่าก็จะต้องมีการขอใบรับรองแพทย์ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีผู้ป่วยเข้ามาในประเทศ