xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมผนึกกองทัพอากาศ ใช้อากาศยานไร้คนขับส่งภาพมุมสูง Real Time แก้จราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คมนาคม จับมือกองทัพอากาศ เซ็น MOC ใช้อากาศยานไร้คนขับ ( UAV) บินเก็บภาพมุมสูง ช่วยแก้ปัญหาจราจร ช่วงเทศกาลแบบ Real Time ก่อนขยายผลไปสู่การติดตามงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และการวางแผนพัฒนาคมนาคมเพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์

วันนี้ (20 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานและสักขีพยานในการ ลงนาม“บันทึกความร่วมมือระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม ว่าด้วยการช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศ” ณ กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยมีพลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ลงนามในบันทึกความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation: MOC) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน ให้สามารถปฏิบัติภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนและการพัฒนาประเทศโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันได้แก่ทรัพยากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงทรัพยากรบุคคลของทั้งสองหน่วยงาน ความร่วมมือจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป และมีระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2565 หากประสบผลสำเร็จจะพิจารณาขยายความร่วมมือในมิติอื่นๆ ต่อไป

พลอากาศเอกมานัต วงษ์วาทย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ กล่าวว่า กองทัพอากาศ จะสนับสนุนกระทรวงคมนาคม ในการใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone หรือ UAV) ควบคู่กับการพิจารณาใช้ประโยชน์จากเครื่องบินทหาร ภาพถ่ายทางอากาศ และภาพถ่ายดาวเทียม ในการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงเทศกาลจราจรที่มีปริมาณการเดินทางจำนวนมาก ซึ่งได้เริ่มทำงานร่วมกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่่ผ่านมาแล้ว วันนี้เป็นการลงนามMOC เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางที่ชัดเจน และแม้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2563 จะเลื่อนวันหยุดออกไปก่อน แต่ยังคาดว่า จะยังมีการเดินทางอยู่ ซึ่งจะถือเป็นการซักซ้อมการทำงานร่วมกันไปก่อน

โดยปัจจุบัน กองทัพอากาศมีเครื่อง UAV จำนวน 23 ลำ เป็นเครื่องเดิม 6 ลำและเครื่องใมชหม่ ใหม่ 17 ลำ ซึ่งพร้อมที่จะนำมาใช้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งการมองภาพสภาพการจราจรจากมุมสูง จะทำให้การบริหารและแก้ปัญหาจราจร เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก เครื่อง UAV สามารถทำการบินได้เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร ทำให้เห็นภาพและมีข้อมูลที่เป็น Real Time ที่จะส่งต่อไปที่ศูนย์คมนาคม ทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งการทำลองความร่วมมือเมื่อช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา สามารถช่วยบริหารการจราจรได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเป็นการนำทรัพยากรของกองทัพอากาศที่มี มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย และจะมีการขยายการใมช้ประโยชน์ไปในกิจกรรมอื่นๆ ทั้งการสำรวจเส้นทางก่อสร้าง และการออกแบบถนน รถไฟและสนามบินได้อีกด้วย

ด้านนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมจะใช้ กรมทางหลวง เป็นศูนย์กลางในการประสานข้อมูลที่ได้จากกองทัพอากาศ ซึ่งจะใช้เครื่อง UAV ช่วยสำรวจ เพื่อประโยชน์ต่อการคมนาคม ขนส่งและแก้ปัญหาจราจรในช่วงเทศกาลปีใหม่ และสงกรานต์ ที่มีประชาชนเดินทางเป็นจำนวนมาก การมองจากภาพมุมสูง จะทำให้เห็นสภาพการจราจรภาพรวมตลอดเส้นทาง นอกจากนี้จะขยายความร่วมมือนำเครื่อง UAV ไปใช้ในการพัฒนางานด้านคมนาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพิ่มอีก รวมถึงร่วมมือในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ของทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยีทางอากสาศ กับงานคมนาคมขนส่ง

"ช่วงปีใหม่ 63 ซึ่งผมและรมว.คมนาคมได้บินสำรวจสภพาการจราจร พบว่า การบริหารจัดการจราจรต้องทำแบบ real time เพราะจะทำให้เห็นว่า จุดตัด ทางแยก หรือคอขวดตรงไหนที่รถติด และจะต้องแก้อย่างไร เปิดไฟจราจรอย่างไรเพื่อระบายรถให้สัมพันธ์กัน เพราะเจ้าหน้าที่ ที่ปฎิบัติงานที่ระดับพื้นดินจะไม่ทราบ ว่า จราจรติดขัดอย่างไร สาเหตุจากอะไร ติดยาวแค่ไหน แต่ภาพจากมุมสูงจะช่วยตัดสินใจได้รวดเร็ว เบื้องต้นจะตั้งศูนย์บริหารจัดการข้อมูลร่วม ที่ศูนย์ของกรมทางหลวง (ทล.) "ปลัดคมนาคมกล่าว

สำหรับความร่วมมือใน MOC ระหว่างกองทัพอากาศและกระทรวงคมนาคม นั้น มีแนวทางการปฏิบัติการในงานด้านคมนาคมครอบคลุมการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่

1. มิติด้านการแก้ไขปัญหาจราจรช่วงเทศกาลในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ที่มีประชาชนจำนวนมากเดินทางกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้การจราจรติดขัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นทางเข้า – ออกกรุงเทพมหานครและบริเวณจุดคอขวดของถนนสายหลัก จะนำอากาศยานมาใช้ เพื่อทำการสำรวจเส้นทางและอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย โดยบูรณาการ เครื่อง UAV ของกองทัพอากาศ โดรน ของกรมทางหลวง และกล้อง CCTV ที่ติดตั้งตลอดแนวถนน เพื่อติดตามสภาพจราจรบนเส้นทางจราจรหลักที่เป็นปัจจุบัน (Real Time) และจะถูกเชื่อมต่อข้อมูลไปยังศูนย์ปฏิบัติการ เพื่อการควบคุม สั่งการ สำหรับบริหารจัดการจราจรบนสายทางให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น

2. มิติด้านการติดตามงานก่อสร้างโครงการสำคัญ โดยใช้ครื่อง UAVของกองทัพอากาศ ใช้ในการติดตามความก้าวหน้า ทั้งการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) บางใหญ่-กาญจนบุรี การติดตามโครงการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์ในระยะเร่งด่วน เป็นต้น ซึ่งครื่อง UAV สามารถนำมาสำรวจพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น พื้นที่เขตป่าหุบเขา ทะเล และพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติ เป็นต้น จะเพิ่มประสิทธิภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

3. มิติด้านการวางแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะเป็น ในระยะต่อไป เช่น ช่วงวางแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศในลักษณะการพัฒนาเชิงพื้นที่ขนาดใหญ่ (Area Base) และ การพัฒนาตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ(Corridor Base) ความเหมาะสมของเส้นทางการพัฒนาสะพานเชื่อมเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์เพื่อเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย การวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมรองรับการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (SEC) เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น