“ศักดิ์สยาม” เช็กผลมาตรการลดค่าครองชีพ ผ่าน 1 เดือนรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารเพิ่มเฉลี่ย 1.1 หมื่นคน/วัน เผย รฟม.ยังรับไหวสูญรายได้วันละ 4 แสนบาท โดยสั่งประเมินต่อเนื่อง ปลื้ม ขสมก.ยอดใช้ E-Ticket เพิ่มขึ้น 11%
นายศักดิ์สยามกล่าวว่า จากการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งได้ติดตามผลมาตรการลดค่าครองชีพ ในส่วนของค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงที่ลดค่าโดยสารเหลือ 14-20 บาท เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 62 นั้น เบื้องต้นผลช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มเฉลี่ย 11,137 คนต่อวัน (เพิ่ม 24.27% ) ขณะที่มีรายได้ลดลงเฉลี่ย 410,000 บาทต่อวัน (ลดลง 43.62%) หรือประมาณ 12 ล้านบาทต่อเดือน
เบื้องต้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ชี้แจงว่า ยังรับภาระได้ โดยให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ รฟม. ร่วมกันประเมินผลเพื่อพิจารณาว่าจะขยายมาตรการต่อไปหรือไม่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการลดค่าครองชีพ และใช้ระบบรางเป็นทางเลือกในการเดินทางอีกด้วย และให้ รฟม.หารือกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อขอความร่วมมือในการลดค่าโดยสารได้อย่างไรด้วย
ส่วนรถโดยสาร ขสมก.มีการจัดเก็บค่าโดยสารผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ของ ขสมก. ด้วยเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) ซึ่งมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 11% และช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการเงินสดลงได้ จึงให้เร่งขยายผลให้มีประชาชนใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) นั้น ได้รับรายงานจากนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ว่า การพัฒนาเพื่อปรับปรุงระบบซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์เพื่อให้สามารถอ่านบัตรโดยสารข้ามระบบทุกบัตรได้ในรูปแบบ Interoperability ให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน (ก.พ.-พ.ค. 2563) และเริ่มใช้งานได้ในเดือน มิ.ย. 2563 ซึ่งให้ทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan)
ส่วนการศึกษาและจัดทำแผนแก้ปัญหาด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) เบื้องต้น จากการทดลองยกไม้กั้น ซึ่งมีผลว่ารถสามารถผ่านด่านได้เร็วขึ้น 14%
นอกจากนี้ ได้เร่งรัดการปรับเวลาเดินรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป และการกำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้กำหนดแนวทางการปรับปรุงสภาพทางกายภาพและกำหนดแผนการดำเนินงานภายในปี 63 โดยในวันที่ 13 ก.พ.นี้จะมีการประชุมรายละเอียดอีกครั้ง และติดตามการใช้งบผูกพันปี 2562-2563 และการปรับโครงการในปี 2563 เพื่อเสนอต่อสำนักงบประมาณ ในการใช้วิธีการอื่นเพื่อให้โครงการมีความก้าวหน้าต่อไป ส่วนโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.สัญจร จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้อนุมัติ 46 โครงการ วงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ให้เร่งประสานงานสภาพัฒน์ฯ และสำนักงบประมาณในการนำเสนอ ครม.ขออนุมัติเป็นรายโครงการ ซึ่งส่วนใหญ่มีความพร้อมดำเนินการ เพื่อให้เกิดการสร้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ