xs
xsm
sm
md
lg

ทุบโต๊ะ “ตั๋วร่วม” 27 มี.ค.เซ็น MOU รับบัตรข้ามระบบใน มิ.ย.63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม

“คมนาคม” ทุบโต๊ะ “ตั๋วร่วม” เซ็น MOU 5 หน่วยงาน 27 มี.ค.นี้ เข็นเปิดรับบัตรรถไฟฟ้าข้ามระบบ ให้ได้ใน มิ.ย. 63

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ครั้งที่ 30 - 3/2563 ว่า ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบการใช้งานร่วมกันของระบบตั๋วร่วมในรูปแบบ Interoperability ในระยะเร่งด่วนคือการทำให้บัตรแมงมุม บัตร MRT Plus ของ รฟม. และบัตร Rabbit ของ BTS สามารถใช้งานร่วมกันได้ ภายในเดือน มิ.ย.นี้

โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จะมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันที่ 27 มี.ค. 2563 เพื่อเป็นข้อตกลงทางธุรกิจ ในส่วนของการเติมเงินให้เติมเงินที่ผู้ออกบัตรเท่านั้น แต่สามารถอ่านข้อมูลในบัตรข้ามระบบกันได้ สำหรับกรณีใช้บัตรข้ามกัน เข้าได้แต่เงินในบัตรไม่เพียงพอให้จ่ายเป็นเงินสด และให้แต่ละหน่วยงาน จัดหาและใช้งบประมาณของตนเอง ดำเนินการปรับปรุงระบบ

นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางการบริหารจัดการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETCS) และยกเลิกคณะทำงานศึกษาแนวทางการบริหารจัดการบัตรอัตโนมัติ (OBU) ในระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (ETCS) เพื่อให้การศึกษาและเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ มีความเหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถนำไปสู่ระบบแบบไร้ไม้กั้น และสามารถใช้งานร่วมกับระบบตั๋วร่วมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ต่อไป

ส่วนการปรับปรุงระบบ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ได้ว่าจ้างบริษัท สมาร์ท เทคโนโลยี คอร์ปอเรชัน ทดสอบระบบ ARL Upgrading แล้ว จำนวน 3 ครั้ง แต่ยังทดสอบระบบได้ไม่ครบตามขอบเขตงาน และยังมิได้จัดส่งเอกสารฉบับสมบูรณ์ ซึ่งที่ประชุมได้มีมติให้ รฟฟท. และ รฟม. เร่งติดตามการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้เป็นไปตามสัญญา แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 มิ.ย. 2563

ขณะที่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้สรุปข้อมูลสถิติปริมาณผู้โดยสารและรายได้ที่ได้รับชำระเงินผ่านเครื่อง EDC ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 มีผู้ใช้จำนวนประมาณ 19 ล้านคน คิดเป็นรายได้ทั้งหมด 314 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนผู้ใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมากที่สุด ประมาณ 60-70% รองลงมาคือระบบ Debit และ QR Code 10%



กำลังโหลดความคิดเห็น