xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ยุค “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เข้มมาตรการสกัดไวรัส “โควิด-19”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันจากเชื้อไวรัส “โควิด-19” ที่ยังคงเป็นวิกฤตระดับโลก ที่ได้กระจายครอบคลุมไปทั่วทุกภูมิภาค สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตที่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เช่นเดียวกับประเทศไทย ที่ถึงแม้ตัวเลขผู้ป่วยกับผู้เสียชีวิต จะยังไม่สูงมากนัก แต่ด้วยเหตุการณ์ที่มีผู้ที่พำนักเกินวีซ่าจากสาธารณรัฐเกาหลีใต้ มีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยบ้านเกิดเมืองนอน หลังจากสถานการณ์ที่เกาหลีใต้ยังไม่ดีขึ้น เป็นเหตุให้ทุกภาคส่วนผนึกกำลัง เพื่อร่วมแก้วิกฤตดังกล่าว

ด้วยสถานการณ์ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องนั้น ล่าสุด หน่วยงานในสังกัด กระทรวงคมนาคม ดำเนินมาตรการคัดกรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ สถานีรถไฟฟ้า สถานีขนส่งผู้โดยสาร และท่ารถอย่างเคร่งครัด

“รมต.โอ๋-นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ครอบคลุม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ เข้มข้นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมทั้งให้รายงานผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยและการดําเนินงานทุกวันเกี่ยวกับมาตรการป้องกันฯ

ล่าสุด มาตรการเร่งด่วนเพื่อรองรับแรงงานไทย ที่เดินทางกลับจากประเทศกลุ่มเสี่ยง ต่อการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในส่วนของกระทรวงคมนาคม ได้นำเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาขั้นตอนการเตรียมการรองรับผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจากสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ได้จัดหลุมจอดแยก ณ ท่าอากาศยานที่เที่ยวบินมาจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อให้ผู้โดยสารขาเข้า ผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ณ ด่านควบคุมโรค ในบริเวณที่จัดไว้สาหรับเป็นพื้นที่คัดกรอง ซึ่ง ทอท. ได้จัดเครื่อง Thermoscan เพื่อคัดกรองผู้โดยสาร 3 ชั้น คือ จุดแรกบริเวณหน้า Gate จุดที่สองหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และจุดที่สามด่านศุลกากร

ทั้งนี้ กรณีพบผู้โดยสารมีอาการป่วย มีไข้ สธ. จะดำเนินการต่อผู้ป่วยตามขั้นตอนวิธีปฏิบัติที่ สธ. กำหนด ในส่วนกรณีผู้โดยสารไม่มีอาการป่วย ไม่มีไข้ กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) จะจัดรถส่งผู้โดยสารกลับภูมิลำเนา เมื่อถึงภูมิลำเนา จะมอบหมายให้หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย (มท.) หาพื้นที่ท้องถิ่นเพื่อกักกันตัวและเฝ้าระวัง 14 วัน อย่างไรก็ตาม ผู้โดยสารทุกคนที่เดินทางมาจาก 2 เมือง ประกอบด้วย 1. แทกู และ 2. คย็องซังเหนือนั้น จะต้องถูกกักกันให้พักอยู่ในสถานที่ที่รัฐบาลกำหนด เป็นเวลา 14 วัน

ขณะเดียวกัน ทอท. ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ เช่น ตม. ด่านควบคุมโรค โดยการใช้ประโยชน์จากระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้า (APPS) ในการเชื่อมข้อมูลพื้นฐาน และข้อมูลการเดินทางของผู้โดยสาร เพื่อที่จะทำให้ระบบการคัดกรองมีความครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดจากปฏิบัติหน้าในแต่ละวัน สธ. อาจนำข้อมูลจากระบบ APPS อาทิ ชื่อ-สกุล สนามบินต้นทาง สนามบินที่แวะเปลี่ยนเครื่อง หมายเลขที่นั่งของผู้โดยสาร หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรืออีเมลที่ติดต่อกับผู้โดยสาร ซึ่งข้อมูลดังกล่าว มีอยู่ในระบบ APPS และระบบ Passenger Name Record (PNR) มาใช้ในการสกัดกั้นการแพร่ระบาด และการติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงสูง

ในส่วนของ “ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ซึ่งถือเป็นหน้าด่านประตูสู่ประเทศไทยนั้น ได้ออกมาตรการยกระดับการคัดกรองผู้โดยสาร ทั้งนี้ จากประเด็นดังกล่าว นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายปฏิบัติการ 1) ระบุว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด รวมถึงร่วมกับด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พร้อมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการและจังหวัดใกล้เคียง จัดตั้งจุดตรวจคัดกรองผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก

โดยการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาเข้า มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหู จำนวน 5 จุด ที่บริเวณจุดตัดอาคารเทียบเครื่องบิน D จำนวน 2 จุด และบริเวณทางเข้าด่านตรวจคนเข้าเมืองจำนวน 3 จุด และในส่วนของการตรวจคัดกรองผู้โดยสารขาออก มีการติดตั้งเครื่องเทอร์โมสแกนและเครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากและทางหู จำนวน 4 จุด ได้แก่ 1. จุดตรวจค้นร่างกายและสัมภาระผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศ โซน 3, 2. จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 3 ช่องทาง Fast track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row T), 3. จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 2 ช่องทาง Fast track (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row W) และ 4. จุดตรวจหนังสือเดินทางขาออกโซน 1 (หลังเคาน์เตอร์ตรวจบัตรโดยสาร Row A)

ขณะที่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) นั้น นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดี ขบ. พร้อมผู้บริหารฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ภายในบริเวณตึกสำนักงานของกรมการขนส่งทางบก (จตุจักร) เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิผู้มาติดต่อราชการ ด้วยเครื่องมือวัดอุณหภูมิ โดยอุณหภูมิร่างกายต้องไม่เกินค่า มาตรฐาน 37.5 องศาเซลเซียส สำหรับผู้ที่ตรวจวัดแล้วไม่เกินค่ามาตรฐานจะทำการติดสติกเกอร์ เพื่อแสดงยืนยันว่า ได้ผ่านการตรวจอุณหภูมิจากเจ้าหน้าที่ และหากพบประชาชนมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงเกินมาตรฐาน จะประสานหน่วยงานสาธารณะสุข เพื่อดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

ด้าน บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) มีการดำเนินงาน ดังนี้ เวลา 21.00-22.00 น. งานรักษาความปลอดภัยและรักษา ความสะอาด กองกิจการสถานีขนส่ง ฝ่ายบริหารการเดินรถ ได้ร่วมพนักงานทำความสะอาด เพิ่มความถี่ในการเช็ดทำความสะอาดห้องโถงอาคารรับรองผู้โดยสาร อาคารชานชาลา 4 เก้าอี้นั่งผู้โดยสาร ช่องจำหน่ายตั๋ว ห้องพักคน พิการ ลิฟต์ และราวบันไดเดินขึ้นลง ตะกร้าสำหรับวางสัมภาระบริเวณจุดตรวจค้น โดยทำการฉีดพ่นน้ำยาและเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

ในส่วนขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยเขตการเดินรถที่ 1-8 นำผลิตภัณฑ์สำหรับฆ่าเชื้อโรค “แอล เพียว 70” มาเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ภายในรถโดยสาร จำนวน 2,974 คัน เช่น เบาะที่นั่ง ราวจับ กริ่งสัญญาณ เป็นต้น ก่อนนำรถออก วิ่งให้บริการประชาชน

เริ่มด้วย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ได้มีการดำเนินการต่างๆ เช่น จัดให้มีจุดคัดกรองตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย โดยใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิแบบมือถือ (Hand Held Thermometer) เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้มาใช้บริการ รวมถึงจัดพนักงานทำความสะอาดคอยประจำจุดต่างๆ ในพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า หรือจุดที่มีการสัมผัสบ่อยครั้ง ได้แก่ บริเวณตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ ช่องแตะบัตร โดยสาร หน้าห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ภายในห้องน้ำ บริเวณราวจับต่างๆ บันได เลื่อน ลิฟต์โดยสาร รวมถึงพื้นที่บริเวณชั้นชานชาลาทุกสถานีตลอดทั้งวัน

นอกจากนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM แจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ใช้บริการที่มีความประสงค์ขอรับหน้ากากอนามัยที่สถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงสถานีคลองบางไผ่-ไทรม้า 7 สถานี และสถานีรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ช่วงสถานีเตาปูนท่าพระ 10 สถานี รวมทั้งแจกหน้ากากอนามัยให้แก่ผู้ใช้บริการที่มีอุณหภูมิ ร่างกายสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ที่สถานีรถไฟฟ้ามหานครที่มีจุด ตรวจวัดอุณหภูมิ 13 สถานี

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า (จท.) โดยส่วนตรวจการณ์เดินเรือ สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่เวรประจำศูนย์ปลอดภัยฯ และเจ้าหน้าที่ประจำท่าเรือโดยสารในพื้นที่รับผิดชอบ ดำเนินการปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังและ รับมือสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 บริเวณท่าเรือสาธารณะทั้ง ในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ โดยดำเนินการปฏิบัติ อาทิ บริเวณที่พักผู้โดยสารขึ้น-ลงเรือทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองแสนแสบ มีเจลล้างมือ รวมถึงติดป้ายประชาสัมพันธ์แนะนำการปฏิบัติให้ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจล/แอลกอฮอล์ ป้องการการแพร่/รับเชื้อโรค ทำความสะอาดตัวเรือและโดยเฉพาะบริเวณที่ผู้โดยสารสัมผัส บ่อยให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ

... งานนี้ต้องขอปรบมือรัวๆ จากการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่นของ “รมต.โอ๋” และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ได้วางแผนการดำเนินงาน พร้อมวางมาตรการรับมืออย่างครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ ...










กำลังโหลดความคิดเห็น